กลุ่มเซ็นทรัล เดินหน้าโครงการ “เซ็นทรัล ทํา – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” อย่างต่อเนื่อง มุ่งสานต่อ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน “Community - Inclusion - Talent – Circularity – Climate - Nature” ดำเนินธุรกิจควบคู่การสร้างคุณค่าร่วมกับทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน ล่าสุด ผุดแคมเปญ “THAMsformation ทำเพื่อเปลี่ยน สู่ความยั่งยืน” ชวนทุกคนร่วมกันลงมือทำ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในวงกว้างอย่างต่อเนื่องและมองถึงผลลัพธ์ระยะยาว
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการ “เซ็นทรัล ทำ : ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” ซึ่งขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นเวลากว่า 7 ปีที่มุ่งสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Values – CSV ระหว่างธุรกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ผ่านพลังของการ “ร่วมกันลงมือทำ” เพื่อส่งมอบคุณค่าเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมต่อทุกภาคส่วน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs -Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาโลกขององค์การสหประชาชาติ
สำหรับความสำเร็จบางส่วนของโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้ชุมชน 1,700 ล้านบาทต่อปี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนกว่า 150,000 ราย สร้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการ 1,011 คน มุ่งสู่ Net Zero ด้วยการลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบกว่า 20,830 ตัน ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 170 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ฯลฯ
ในปี 2567 “เซ็นทรัล ทำ” วาง “6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นโรดแมปหรือแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นกว่าเดิม ดังนี้
กลยุทธ์ที่หนึ่ง Community พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน : มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ ส่งเสริมสินค้าให้มีเอกลักษณ์เป็นที่ต้องการของตลาด สนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์และดีไซน์ต่างๆ รวมทั้งมอบช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ พัฒนายกระดับสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ ต่อยอดการท่องเที่ยวยั่งยืนในเชิงเกษตรอินทรีย์และเชิงวัฒนธรรมในบริเวณโดยรอบของชุมชน นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มเกษตรกรและชุมชนต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 ดำเนินการแล้วกว่า 44 จังหวัด สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนต่างๆ กว่า 150,000 ราย สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน ผ่านการรับซื้อหรือสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท
โดยมีโครงการเด่น ได้แก่ 1) “ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่” นับแต่ปี 2560 ที่เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินโครงการวิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา บนพื้นที่ 9 ไร่ สนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปัจจุบันชุมชนแม่ทาขยายผลการดำเนินงานสู่ การจัดทำโฮมสเตย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยมีกิจกรรมมากมาย เช่น การเก็บไข่ไก่อารมณ์ดี การลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน การทำขนมปัง โดยดำเนินการเสร็จแล้ว 1 หลัง และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ในอนาคตมีแผนจะร่วมกับ ททท. จัดทำแพคเกจ One Day Trip ผลจากโครงการแม่ทาออร์แกนิคช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน มากกว่า 8.4 ล้านบาท ในปี 2566 มีชุมชนเข้าร่วมกว่า 110 ราย ในส่วนการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม 1,500 คนต่อปี สร้างรายได้จากการเข้าอบรมและท่องเที่ยวกว่า 3.8 แสนบาท
2) “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง” กลุ่มเซ็นทรัลสนับสนุนก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมผ้าทอมือโบราณอายุกว่า 200 ปี ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมายกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้คนทั่วไปได้รู้จัก อบรมลูกหลานชาวนาหมื่นศรีและนักเรียนโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ให้เป็นมัคคุเทศก์ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม จัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว และสนับสนุนการก่อสร้างร้านค้าวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี โดยในปี 2566 สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 9.2 ล้านบาท ครอบคลุมสมาชิก 155 ครัวเรือน ปัจจุบัน “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี” นับเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวและผู้แทนหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้ากว่า 21,000 คนต่อปี
3) “ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านเทพพนา- สวนเทพพนา จ.ชัยภูมิ” ความโดดเด่นของสวนเทพพนา 1 ใน 7 ผู้ปลูกอะโวคาโดสายพันธุ์แฮสส์ในไทยที่เป็นพืชเศรษฐกิจให้ผลตอบแทนดี ช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการทำเกษตรอัจฉริยะ เช่น การทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ การจัดการน้ำใต้ดิน แทงค์น้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้ง การเพาะต้นกล้าอะโวคาโดและเปิดอบรมให้ผู้สนใจปลูกอะโวคาโด ส่งผลให้ “เซ็นทรัล ทำ” ตระหนักถึงศักยภาพดังกล่าว จึงสนับสนุนด้านการจัดจำหน่ายผลผลิตส่งเข้า Tops และตลาดจริงใจ (Farmer's Market) สนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เป็นต้นแบบด้านการทำเกษตรอัจฉริยะในภาคอีสาน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การปลูกอะโวคาโด และเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตอื่นๆ เช่น เสาวรส ทุเรียนโอโซน และแมคคาเดเมีย จากชุมชนใกล้เคียงเพื่อส่งขายให้ธุรกิจในเครือเซ็นทรัล โดยในปี 2566 ศูนย์การเรียนรู้บ้านเทพพนา มีสมาชิก 500 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 41 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้ากว่า 10,000 คนต่อปี มีผู้เข้าอบรมการปลูกอะโวคาโด 3,000 คนต่อปี และเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3,000 ไร่
4) “ศูนย์การเรียนรู้การทำฟาร์ม เมล่อน Smile Melon จ.อยุธยา” จากการปลูกเมล่อนเป็นอาชีพเสริมระหว่างการทำนาซึ่งมีราคาผลผลิตตกต่ำ นำไปสู่การสร้างอาชีพหลักให้ชุมชน โดยมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเมล่อนกลุ่มใหญ่ร่วมใจพัฒนา จนกลายเป็นแหล่งผลิตเมล่อนแบบครบวงจร เริ่มมีการส่งผลผลิตจำหน่ายที่ Tops แต่ยังขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลจึงเข้าไปสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรือนเพาะปลูก และอาคารคัดแยกผลผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานโมเดิร์นเทรด ขยายผลสู่การรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และเตรียมยกระดับศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชนใกล้เคียง โดยในปี 2566 กิจกรรมภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งมีสมาชิก 30 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 15.2 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้ากว่า 7,200 คนต่อปี
5) “จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต” หรือ “ตลาดจริงใจ” พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรในท้องถิ่นนำพืชผักปลอดภัย และสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนมาวางจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้า นอกจากนี้การนำสินค้าจากภายในพื้นที่มาจำหน่ายยังทำให้คนในชุมชนได้บริโภคอาหารและสินค้าสดใหม่ คุณภาพดีและปลอดภัยจากสารเคมี เพิ่มโอกาสการจำหน่าย สร้างรายได้มั่นคงให้เกษตรกร และสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้ชุมชน โดยปัจจุบัน จริงใจฯ มีทั้งหมด 33 สาขา ใน 29 จังหวัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ 1 สาขา และในพื้นที่ศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดต่างๆ อีก 32 สาขา โดยในปี 2566 สร้างรายได้กว่า 231 ล้านบาท ให้เกษตรกรกว่า 10,200 ครัวเรือน
6) “good goods (กุ๊ด กุ๊ดส์)” ร้านจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นดีไซน์ร่วมสมัยแบรนด์ “good goods” (กุ๊ด กุ๊ดส์) ผลิตโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ” ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ริเริ่มเมื่อปี 2561 เพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรม ยกระดับสินค้าไทยให้ทันสมัย ด้วยการส่งมอบองค์ความรู้แก่ชุมชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการออกแบบให้มีความร่วมสมัย โดยกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดจะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชนต่อไป นอกจากการอนุรักษ์สินค้าท้องถิ่นแล้ว “เซ็นทรัล ทำ” ยังมุ่งส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น คนพิการในการพัฒนาทักษะด้านการผลิตสินค้า ผ่านการดำเนินโครงการตะกร้าสาน ผู้พิการซึ่งร่วมมือกับสมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี เพื่อนำมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods โดยระหว่างปี 2562-2566 สร้างอาชีพผู้พิการและเครือข่ายกว่า 200 คน สร้างรายได้ให้คนพิการในสมาคมผ่านการรับซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในร้าน good goods คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 12 ล้านบาท
ปัจจุบัน ร้าน good goods มี 3 สาขา ได้แก่ คอนเซ็ปต์สโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน Hug Thai , สาขาโครงการจริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ และใหม่ล่าสุดสาขาเซ็นทรัลภูเก็ต ฟอลเรสต้า ชั้น G โซน Hug Thai ทั้งยังมีส่วนของเคาท์เตอร์ good goods ที่เซ็นทรัล ชิดลม ชั้น 7 และเซ็นทรัล ป่าตอง ชั้น B1 และช่องทางออนไลน์ผ่าน Line :@aboutgoodgoods โดยในปี 2566 สร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท จากการรับซื้อสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น 39 ชุมชน
กลยุทธ์ที่สอง Inclusion – การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม : มุ่งสร้างโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้เยาวชน ผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project Based Learning ที่เน้นลงมือปฏิบัติด้วยประสบการณ์จริง ต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีโครงการเด่น ได้แก่ โครงการยกระดับการศึกษาโรงเรียนบ้านตากแดด จ.พังงา มุ่งพัฒนาโรงเรียนบ้านตากแดดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ข้าวไร่ดอกข่า” สนับสนุนการนำความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนา ขยายผลสู่ชุมชนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ดอกข่า สร้างรายได้จากการจำหน่ายข้าวไร่ดอกข่ากลับคืนสู่โรงเรียน สร้างคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนปรับปรุงสถานศึกษาในโครงการ ICAP ออกแบบห้องเรียนและหลักสูตรให้มีสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย สร้างสมาธิ ความรับผิดชอบ และยังจัดตั้งมุมคัดแยกขยะปลูกฝังจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโรงเรียนบ้านตากแดดมีนักเรียนเพิ่มจาก 47 คนในปี 2559 เป็น 85 คนในปี 2566 ส่งผลให้เป็นโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ของชุมชน มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง
กลยุทธ์ที่สาม Talent – พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร : ส่งมอบความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานแก่บุคลากรทุกระดับผ่านกิจกรรมและหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่เน้นถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ตลอดจนสร้างความเคารพในคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในองค์กรให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน
กลยุทธ์ที่สี่ Circularity – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน : ส่งเสริมและรณรงค์ให้ทุกคนร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นของธุรกิจในเครือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงการร่วมมือกันรักษ์โลกและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการเด่น เช่น
“โครงการจัดการอาหารส่วนเกิน” (Food Surplus Management) เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่วางแผนการใช้วัตถุดิบ การจัดการอาหารเหลือจากการจำหน่าย แบ่งเป็นที่ยังรับประทานได้ส่งต่อให้กลุ่มเปราะบาง โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS และYindii สำหรับอาหารส่วนเกินที่รับประทานไม่ได้ จะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ และ“โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติก” (Plastic Waste Management) มุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกผ่าน 3 แนวทาง (1) การลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือ single-use plastic ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล (2) เพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และ(3) การส่งเสริมกระบวนการรีไซเคิล กลุ่มเซ็นทรัล จัดเก็บขยะขวดพลาสติก PET เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcycled) ที่มีมูลค่า เช่น กระเป๋า เสื้อกั๊ก หรือผ้าห่ม จำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods หรือส่งมอบให้ผู้ประสบภัย เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ห้า Climate – การฟื้นฟูสภาพอากาศ : เดินหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ของธุรกิจในกลุ่ม รวมทั้งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานและผู้บริหารในองค์กร คู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตร ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีโครงการเด่น ได้แก่ “โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่าน Solar Rooftops” โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในกลุ่มเซ็นทรัลกว่า 170 แห่ง และ“โครงการส่งเสริมลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากระบบขนส่งสินค้า” เพื่ออากาศที่ดีของคนไทย
กลยุทธ์ที่หก Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ : กุญแจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเป็นแนวทางลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินโครงการด้านการเพิ่มและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว เช่น “เกษตรกรรมยั่งยืน” ส่งเสริมการทำเกษตรที่มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจทำให้เกษตรชุมชนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนผืนป่า การปลูกต้นไม้และการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี เพื่อการอนุรักษ์ดิน น้ำ อากาศและสิ่งมีชีวิต เช่น “โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว” ผนึกกำลังกับกรุงเทพมหานคร และกรมป่าไม้ ปลูกป่าในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งแจกจ่ายต้นไม้ให้ประชาชน ฯลฯ ส่งผลให้ในปี 2566 เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่าได้กว่า 9,411 ไร่ ลดคาร์บอนได้ 7,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในปี 67 มีแผนดำเนินโครงการ Community Climate Action (CCA) ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 50,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด เป็นต้น
ล่าสุด “เซ็นทรัล ทำ” ยังได้เปิดตัววิดีโอชุดใหม่ “แค่ทำสักครั้ง” สอดรับกับ แคมเปญ “THAMsformation ทำเพื่อเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน” สะท้อนเรื่องราวคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่เกิดจากความกล้าที่จะเริ่มต้นลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบอกเล่าโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบางส่วนของ “เซ็นทรัล ทำ” ที่ประสบความสำเร็จและเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน คลิกเพื่อรับชมวีดีโอโฆษณา “แค่ทำสักครั้ง” โดยหวังผลลัพธ์เชิงบวกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระยะยาว เพื่อส่งมอบอนาคตที่มีคุณภาพให้สังคม ประเทศชาติ และคนรุ่นหลังต่อไป