เอสซีจี เผยมุมมองการเปลี่ยนผ่านสู่สังคม Net Zero ควบคู่การสร้างการเติบโตให้เอเชียอย่างยั่งยืน ต้องใช้จุดแข็งของประเทศผสานพลังของเทคโนโลยี แก้โจทย์พลังงานสะอาดและพัฒนานวัตกรรมกรีน ในงาน 3rd Annual Sustainability Week Asia
การสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนบนสังคม Net Zero นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้แบ่งปันมุมมองในประเด็นดังกล่าว ร่วมกับผู้นำองค์กรระดับโลกบนเวทีเสวนา หัวข้อ “Achieving Net Zero: Matching Ambition with Action” ในงาน 3rd Annual Sustainability Week Asia โดย Economist Impact
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า “เอสซีจีเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมาก ถ้าเอสซีจีจะไปถึงเป้าหมาย Net Zero 2050 ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน กำลังเดินหน้าปูนคาร์บอนต่ำด้วยนวัตกรรมวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานใหม่ พร้อมส่วนผสมพิเศษที่เอสซีจีพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ทำให้ปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชันแรก สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 10 และปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 จากรุ่นแรก และจะพัฒนารุ่นต่อ ๆ ไป ให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อยๆ”
ในด้านความท้าทาย นายธรรมศักดิ์มองเรื่องการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยกล่าวว่า “การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่คาร์บอนต่ำให้ได้ไว ต้องมองหาพลังงานสะอาดที่ราคาจับต้องได้ เข้าถึงง่าย ซึ่งแต่ละพื้นที่มีสิ่งที่ตอบโจทย์แตกต่างกัน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ขยายความถึงแนวทางอีกว่า “เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีมาผสานกับจุดแข็งของแต่ละพื้นที่หรือภูมิภาค เช่น ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนพืชผลเกษตรเหลือใช้ เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพด ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานฟอสซิล ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ควบคุมต้นทุนได้ดี เอสซีจีจึงเร่งเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเต็มที่”
“นอกจากนั้น ผลิตผลเกษตรยังสามารถนำมาพัฒนานวัตกรรมกรีน เช่น พลาสติกชีวภาพ ซึ่งตลาดโลกต้องการมาก ทิศทางนี้จะช่วยให้เราเดินหน้าธุรกิจ เศรษฐกิจ ควบคู่กับสังคม Net Zero ได้เร็วยิ่งขึ้น องค์กรจึงควรลงทุนและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีกับทุกภาคส่วน”
นายธรรมศักดิ์ ทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของเอสซีจีว่า “เราพร้อมร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนในเอเชียและทั่วโลก เพื่อสร้างสังคม Net Zero ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมกรีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวคิด ‘Passion for Inclusive Green Growth’ ของเอสซีจี”
3rd Annual Sustainability Week Asia จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ณ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชันโฮเทล กรุงเทพฯ โดย Economist Impact เพื่อเป็นเวทีขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับเอเชีย ภายใต้แนวคิด ‘Achieving climate targets, faster’ มุ่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองเชิงลึก และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้จริง เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการส่งต่อเทคโนโลยีโดยประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ โดยมีผู้นำทางธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และ NGOs ทั่วเอเชียเข้าร่วมกว่า 800 รายภายในงาน และจากช่องทางออนไลน์อีกกว่า 2,000 ราย