xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ดันรัฐตรึงดีเซล-LPG ดูแล ปชช.มุ่งใช้กลไกภาษีฯ-ค่าการตลาด ลดพึ่งกองทุนน้ำมันฯ อย่างเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.หนุนรัฐตรึงดีเซลและ LPG ที่จะสิ้นสุดมาตรการ 31 มี.ค.นี้เพื่อดูแลประชาชน เหตุหนี้ครัวเรือนยังคงสูง แถมหนี้นอกระบบอีก แต่ควรมุ่งเน้นการใช้กลไกภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่ม กำกับค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่น แทนมุ่งแต่ใช้กองทุนฯ จนหนี้จะแตะแสนล้านบาทซึ่งสุดท้าย ปชช.ต้องกลับมาจ่ายใช้หนี้ ระยะต่อไป ศก.ดีควรช่วยเฉพาะกลุ่มแทน เช่น ขนส่ง ฯลฯ พร้อมเสนอ 4 แนวทางแก้ไขค่าไฟแพง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร (ไม่เกิน 30 บ./ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 และขยายเวลาตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ครัวเรือนอยู่ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม (กก.) สิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้เช่นกัน เรื่องนี้มองว่ารัฐบาลควรจะตรึงราคาทั้งดีเซลและ LPG ต่อไปเนื่องจากขณะนี้ภาวะค่าครองชีพของประชาชนในช่วงนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญพิจารณาได้จากหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่สูงถึง 91% ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 20%

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือในการอุดหนุนดีเซลนั้นรัฐควรใช้เครื่องมืออื่นนอกเหนือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบัน ณ วันที่ 10 มี.ค. 67 มีฐานะสุทธิติดลบถึง 94,883 ล้านบาท ดังนั้นรัฐควรจะมองในเรื่องกลไกของภาษีสรรพสามิตดีเซลที่เพิ่มขึ้นในการมาดูแลอย่างเหมาะสม รวมไปถึงค่าการตลาดซึ่งต้องดูต้นทุนของโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันอย่างละเอียดและจริงจังเพื่อลดการพึ่งพากองทุนน้ำมันฯ เป็นหลัก เช่นเดียวกับ LPG ที่ควรมองโครงสร้างราคาทั้งระบบเพราะเบื้องต้นทราบว่าอุดหนุนทั้งอุตสาหกรรม ครัวเรือน และปิโตรเคมี เพราะหนี้กองทุนน้ำมันฯ เงินเหล่านี้สุดท้ายประชาชนก็ต้องย้อนกลับมาจ่ายคืนไม่ใช่ภาครัฐจ่ายเพื่อเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงที่ตลาดน้ำมันโลกลดซึ่งก็จะยังทำให้ระดับราคาน้ำมันของไทยยังคงทรงตัวสูงต่อไปอีกระยะจนกว่าจะเก็บเงินคืนกองทุนฯ เพื่อคืนหนี้" นายอิศเรศกล่าว

“ระยะที่เศรษฐกิจพอฟื้นตัว รัฐก็ควรจะมองการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่จำเป็น เช่นกลุ่มขนส่งสินค้า, กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ภาครัฐต้องหากลไกช่วยเหลือกลุ่มนี้เป็นพิเศษมากกว่าตรึงราคาทั้งตลาดเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ” นายอิศเรศกล่าว

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ของไทยต้นเหตุที่มีราคาแพงเนื่องจากมีการพึ่งก๊าซธรรมชาติ (NG) ที่มากเกินไปมายาวนาน โครงสร้างต้นทุนรวมของ NG ขาดการกำกับที่ดี และไม่เป็นตลาดเสรีมายาวนาน ซ้ำร้ายยังขาดการจัดการที่ดีช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานหลุมเอราวัณ ขาดการทำสัญญาระยะยาว (Long Term Contract) การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทั้งๆ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเคยนำเสนอราคาต่ำจากมาเลเซีย จนเกิดวิกฤตรัฐเซีย-ยูเครน ราคา LNG จึงพุ่งสูง

ทั้งนี้ Ft ข้อเสนอระยะสั้น 1. ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการนำเข้าพลังงานฟอสซิลให้มากที่สุด พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยี Energy Storage System (ESS) 2. ปริมาณไฟฟ้าที่เกินระบบหรือ over Demand ประมาณ 50% จึงมีต้นทุนจากการที่ไม่ได้เดินโรงไฟฟ้า เช่น ค่าพร้อมจ่าย (AP) แฝงใน ค่า Ft : ปรับสัญญาเดิมให้รัดกุมขึ้น, เพิ่มดีมานด์การใช้ เช่น EV Truck EV Bus รวมทั้งการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้ประเทศเพื่อนบ้าน

3. กลไกการบริหารทั้งนโยบาย (Policy) การกำกับ และการดำเนินงานหรือ Operators บางส่วนยังขาดประสิทธิภาพและความเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญ การตัดสินใจใดๆ ควรยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งสรรหาคนเก่งและคนดีมืออาชีพเข้ามาบริหาร หรือเป็นทีมที่ปรึกษาในทุกระดับ 4. ส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง (Energy Efficiency)
กำลังโหลดความคิดเห็น