นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) หยิบเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้างขณะนั้น มายกร่างเป็นมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 โดยมีภาคสังคมร่วมผลักดัน (Social-driven) เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการประกอบการอย่างรับผิดชอบ จนเป็นที่มาของคำว่า License to Operate
CSR เป็นการนำข้อพิจารณาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจ และพร้อมรับผิดชอบในผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจและการดำเนินงานดังกล่าว ด้วยความโปร่งใสและการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กฎหมายและหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และมีลักษณะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกบูรณาการอยู่ในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และประโยชน์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (ISO26000, 2010)
รูปแบบการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร การปฏิบัติด้านแรงงาน ด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม การดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตัดสินใจและการดำเนินงานขององค์กรทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะและของเสีย ผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่มีต่อผู้บริโภค ตลอดจนการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นต้น
ถัดจากนั้น ในปี ค.ศ. 2011 กระแสของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบทางลบที่เกิดจากการประกอบการ ได้ขยายวงไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจที่สามารถส่งผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ที่คำนึงถึงการเติบโตทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมควบคู่กัน โดยมีตลาดเป็นตัวขับ (Market-driven) จนเกิดเป็นคำว่า License to Grow
CSV เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์ที่สังคมกลุ่มเป้าหมายได้รับ ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมกัน หรืออีกนัยหนึ่ง CSV คือ บทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน (Michael Porter and Mark Kramer, 2011)
ตัวอย่างของการสร้างคุณค่าร่วม ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ในลักษณะที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีการปรุงแต่งน้อย เพื่อป้องกันมิให้เจ็บป่วย โดยจะได้รับส่วนลดเบี้ยกรมธรรม์กรณีไม่เจ็บป่วย ซึ่งต่างจากกรมธรรม์ประกันสุขภาพทั่วไปที่เน้นให้สิทธิคุ้มครองการเข้ารับการรักษาพยาบาลหลังเจ็บป่วย และเสี่ยงต่อการถูกเพิ่มเบี้ยจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทำให้กรมธรรม์ประเภทส่งเสริมสุขภาพถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าร่วมทั้งแก่ ผู้ถือกรมธรรม์ (ที่ลดโอกาสเจ็บป่วย) สังคม (ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข) และบริษัทผู้ออกกรมธรรม์ (ที่มีแนวโน้มการจ่ายค่าสินไหมทดแทนลดลง)
และในปี ค.ศ. 2021 ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ริเริ่มนำมาใช้โดยกลุ่มผู้ลงทุน (Investor-driven) สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ได้ยกระดับไปสู่การออกเป็นข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) โดยรัฐสภายุโรป ที่กำหนดให้ผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่เข้าเกณฑ์ ต้องรายงานข้อมูลความยั่งยืนให้ผู้ลงทุนรับทราบ โดยมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา
ข้อบังคับ SFDR (Sustainable Finance Disclosures Regulation) ในมาตรา 6 ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลการบูรณาการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในการตัดสินใจลงทุน และข้อมูลผลกระทบจากความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่มีต่อผลตอบแทนการลงทุน ส่วนในมาตรา 8 ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมลักษณะเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในผลิตภัณฑ์ทางการลงทุน และข้อมูลการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบริษัทที่เข้าลงทุน ขณะที่ในมาตรา 9 กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นวัตถุประสงค์และต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดที่ใช้บรรลุวัตถุประสงค์โดยอธิบายให้เห็นถึงวิธีและเหตุผลซึ่งใช้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากดัชนีชี้วัดทั่วไปในตลาด
การดำเนินงานตามมาตรา 6 ถือเป็นประโยชน์ขั้นต้นที่เกิดกับผู้ลงทุนในการได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการพิจารณา ESG เป็นปัจจัยนำเข้า ส่วนการดำเนินงานตามมาตรา 8 ถือเป็นประโยชน์ขั้นกลางที่เกิดกับกิจการในการได้รับเม็ดเงินลงทุนจากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG ในธุรกิจ ขณะที่การดำเนินงานตามมาตรา 9 ถือเป็นประโยชน์ขั้นปลายที่เกิดกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในการได้รับผลกระทบทางบวกจากการนำเอาปัจจัย ESG มาเป็นวัตถุประสงค์ของการลงทุนและผลักดันให้บริษัทที่เข้าลงทุนดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
ทำให้จากนี้ไปเราจะได้เห็นกิจการที่ใส่ใจดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จะนำเรื่อง ESG มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ในลักษณะที่เสริมกับการสร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพของกิจการ โดยยังส่งผลต่อมูลค่าของกิจการในทิศทางที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน เสมือนเป็น License to Earn หรือใบอนุญาตรับผลตอบแทนหรือเงินลงทุนจากการประกอบธุรกิจโดยใส่ใจเรื่อง ESG ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ประธานสถาบันไทยพัฒน์