หน้าร้อนปี 2567 ใกล้จะมาเยือน แต่ดูเหมือนประเทศไทยยังไม่มีการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรมได้อย่างถาวร ยกเว้นการกดราคาค่าไฟฟ้าชั่วคราว
แต่นักวิชาการด้านพลังงานในเวทีเสวนา “ไทยพร้อมหรือยัง กับการคิดค่าไฟแบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ในสภาวะค่าไฟแพง” จัดโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และ ดาต้า แฮทช เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชี้ว่าถ้ารัฐบาลกล้าตัดสินใจเดินในสองเส้นทาง วิกฤตค่าไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องในอดีต
สองเส้นทางดังกล่าว คือ การนำนโยบายให้เน็ตมิเตอร์ริง หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้ามาใช้กับหลังคาโซลาร์ และนำประเทศเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี วิกฤตค่าไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องในอดีต
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ได้เสนอโมเดลสำหรับตลาดไฟฟ้าเสรี คือ ระบบเน็ตมิเตอร์ริงหรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า โดยระบบเน็ตมิเตอร์ริงจะมีการนำปริมาณไฟฟ้าที่บ้านเรือนใช้มาหักลบด้วยปริมาณไฟฟ้าที่บ้านเรือนสามารถผลิตได้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และเมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าจะไหลกลับไปยังสายส่งที่ส่งไฟให้บ้านเรือน หรือหากอธิบายง่าย ๆ คือ ใช้มิเตอร์ตัวเดียว บวกหน่วยไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ในบ้านขณะที่หลังคาโซลาร์ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก และหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ไหลเข้ามาจากการไฟฟ้าในตอนกลางคืน บวกและลบทุกวัน จนได้จำนวนหน่วยสุทธิที่ใช้ไปในทุก ๆ สิ้นเดือน ซึ่งระบบนี้จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านหลังคาโซลาร์อย่างเต็มที่ ที่มีผลทำให้ลดค่าไฟฟ้าอย่างถาวร
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มีความเห็นว่า การแก้ปัญหาสภาวะค่าไฟแพงของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นเพียงระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุดันให้ค่าไฟกลับขึ้นมาราคาสูงขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ หากไม่มีมาตรการระยะยาวที่แก้ปัญหาโครงสร้างราคาค่าไฟที่ตรงจุด โดยชี้ให้เห็นว่า ในแง่หนึ่งปัญหาค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นของปีก่อนหน้าอาจมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนจากความต้องการในตลาดที่สูง จนกลายเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในไทยที่สูงตามมา และสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าทะยานขึ้นมาโดยตลอดมีส่วนมาจากการทำสัญญาที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน และกลับมาแฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที (Ft) ที่อยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด และการแก้ปัญหาด้วยการยืดเวลาชำระหนี้ให้กับ กกพ. อาจไม่สามารถแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าได้เลยหากโครงสร้างค่าไฟไม่ถูกปรับให้เป็นธรรม
ขณะที่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานสะอาดว่า ต้องเกิดควบคู่กับการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายังคงสูง และสุดท้ายจะกลายเป็นภาระที่ประชาชนจำเป็นต้องจ่ายมากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ตลอดการทำงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา พบว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อมีการผลักดันพลังงานทางเลือก รัฐบาลมักจะเลือกประมูลพลังงานกับกลุ่มทุนรายใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ด้วยหลักเกณฑ์การประมูลที่คลุมเครือ ทำให้ผู้เล่นในตลาดพลังงานยังคงจำกัดและทำให้ราคาไฟฟ้าที่ประชาชนบริโภคยังคงสูงเมื่อไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://www.tcc.or.th/merchant-power-market-net-metering/
ลิ้งค์รับชมวิดีโอจากงานเสวนา https://fb.watch/pQA6pg9ra2/