โครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจการจัดการขยะและรีไซเคิลขยะแห่งประเทศไทย (Thailand Waste Management & Recycling Academy: WMRA) เป็นโครงการระหว่าง SecondMuse และ Seedstars ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้เกิดแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการขยะ และการรีไซเคิลอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยในช่วงที่หนึ่งของโครงการฯ ได้จัดเวิร์กช็อปและให้คำปรึกษาสตาร์ทอัพ 11 ราย และในช่วงที่สองของโครงการ ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 4 รายให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ออกแบบเฉพาะกับแต่ละธุรกิจ อาทิ การให้คำปรึกษา การทดสอบไอเดียธุรกิจ (Proof-of-concept) อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในการจัดการขยะพลาสติก ในระยะเวลาโครงการ 9 เดือน โดย “Reboon -Micro Greentech” เป็นสองตัวอย่างที่เกิดผลสำเร็จตามจุดประสงค์ของโครงการ
๐ “รีบุญ” หนุน “วัด” เป็น “ศูนย์กลางการรีไซเคิลของชุมชน”
Reboon – โครงการคัดแยกขยะและการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยวัดชลประทานรังสฤษดิ์เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก โดยร่วมมือกับบุคลากรของวัด ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ภายในวัดที่รับหน้าที่ดูแลและคอยส่งเสริมให้พระลูกวัดมีส่วนร่วมในโครงการนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ REBOON ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานภายนอก เช่น วัดพระราม 9 และโครงการ Chula Zero Waste ให้นำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้กับวัดอื่นๆ
สินธุนนท์ ชวนะเวศน์ ผู้ก่อตั้ง Reboon (รีบุญ) ผู้ให้บริการจัดการขยะในวัดเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงที่มาของไอเดียนี้ว่า มาจากการได้เห็นว่าขยะเป็นปัญหาที่คนจำนวนมากในสังคมยังขาดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบสุดท้าย ทั้งๆ ที่ทุกคนสร้างขยะ รวมทั้ง ขยะมากมายที่เกิดขึ้นในวัดหลังจากการไปทำบุญ จึงคิดเข้าร่วมโครงการ WMRA ที่เปิดรับไอเดียต่างๆ จึงมีความคิดใช้พื้นที่วัดเป็นสื่อหรือตัวกลางเพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนตระหนักเรื่องขยะ โดยได้ร่วมกับวัดชลประทานฯ ซึ่งกำลังเริ่มทำเรื่อง 5 ส ด้วยการช่วยสร้างระบบการจัดการขยะที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาถังขยะไปวาง เอาป้ายติด เพราะมีตัวอย่างมากมายที่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงเริ่มด้วยการเข้าไปให้ความรู้กับบุคลากร เข้าไปสอนพระให้เข้าใจเรื่องการแยกขยะ และเข้าไปวางระบบที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยเชื่อมโยงปลายทางของขยะแต่ละประเภท
“เราไปมองว่าขยะมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างต้องไปที่ไหน ถ้าอยากให้จัดการง่ายที่สุดคือที่จุดที่คนทิ้ง เพราะถ้ารวมกันแล้ว การจะมารื้อมาจัดการมันยากมาก เราสร้างจุดทิ้งที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงแรกต้องมีคนให้คำแนะนำ อธิบายว่าต้องแยกอย่างไร แล้วปลายทางของแต่ละอย่างเป็นอย่างไร เราใช้เวลา 6 เดือน เพื่อสอนคนให้เกิดเป็นพฤติกรรมจนเป็นนิสัย เพราะถ้าแค่มีป้ายโดยคนที่เข้ามายังไม่เข้าใจ กว่าจะเป็นพฤติกรรมและความคุ้นชินต้องใช้เวลานานมาก”
เป้าหมายคืออยากให้วัดเป็นศูนย์กลางการรีไซเคิลของชุมชน หรือจุดรวบรวมวัสดุรีไซเคิล มีการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้กับชุมชน
“คนที่เข้ามาวัดเขาอยากจะแยกขยะ เขาอยากจะทิ้งขยะอย่างถูกต้องแต่ว่าเขาไม่มีสถานที่ วันนี้เขามาพึ่งวัดได้ เขาได้เอาขยะที่เขาแยกอย่างดีแล้วมาให้วัดรีไซเคิล เขาได้บริจาคได้ทำบุญด้วย จากจุดเริ่มทำโครงการที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันขยายเพิ่มอีก 4 วัด ได้แก่ วัดไผ่เลี้ยง วัดอุดมรังสี วัดทองเนียม และวัดระฆังโฆสิตาราม มีการดำเนินการแนวเดียวกันเพื่อเผยแพร่เรื่องการจัดการขยะและการดูแลสิ่งแวดล้อม
หลังจากจบโครงการนี้ จะต่อยอดกับกรุงเทพมหานครและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องการตั้งจุดคัดแยกขยะ ที่สำคัญการเข้าใจการแยกขยะต้องทำกิจกรรม workshop เพราะบางทีเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่มีรายละเอียด เช่น ต้องเข้าใจว่าถังขยะต้องแบบไหน แยกกี่ประเภท ต้องมีแวร์เฮ้าส์เพื่อเก็บ หากแต่ละจุดมีปริมาณน้อยเกินไปจะหาคนมาซื้อไม่ได้ สุดท้ายต้องทิ้งไปหมด
เมื่อโครงการที่ทำอยู่ถือว่าสร้างผลกระทบเชิงบวกมาก จึงควรจะต้องมีการขยายผลและต่อยอด ซึ่งโจทย์ต่อไปคือการ commercialize และหา funding จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะสนับสนุนโมเดลดังกล่าวนี้ต่อไป
๐ “ไมโครกรีนเทค” ชูโมเดลธุรกิจ
พัฒนาเครื่องรับคืนอัตโนมัติ แก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์
Micro Greentech – ธุรกิจพัฒนาเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ (Reverse Vending Machine: RVM) สำหรับขวดพลาสติก PET โดยทางบริษัทได้เปิดตัวเครื่องต้นแบบดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ในระหว่างงานวิ่งระดับชุมชนที่จัดขึ้นผ่านความร่วมมือกับเทศบาลเมืองนครปฐม และจะมีการทดสอบนำร่องในสถานที่ต่างๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องและสอบถามเสียงตอบรับจากชุมชนในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
สกล สัจเดว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครกรีนเทค จำกัด กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากโครงการนี้ว่า เรื่องแรกคือความรู้เรื่องขยะ ซึ่งเหมือนเป็นสิ่งใกล้ตัวแต่เหมือนไกลด้วย เพราะทุกคนสร้างขยะ ขณะที่รูปแบบธุรกิจ Waste management เป็นเทรนด์ของโลก จึงคิดค้นเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติก และใช้ระบบ AI เข้ามาตรวจพลาสติกที่ใส่เข้าไปในตู้ เมื่อทิ้งแล้วได้คะแนนสามารถนำไปแลกของ เช่น แลกไข่ เติมน้ำมัน ซักผ้า เป็นต้น เนื่องจากชีวิตคนต่างจังหวัดผูกพันกับตู้หยอดเหรียญ vending machine อย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในชุมชนปัจจุบันในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่าประมาณ 500,000 - 700,000 เครื่อง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้แนวทางนี้เพื่อให้คนในชุมชนเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะผ่านเครื่องหยอดเหรียญ
สำหรับการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ ได้จัดกิจกรรมวิ่งเก็บขยะกับเทศบาลเมืองนครปฐม “เป็นงานวิ่งแรกที่คนตื่นเต้นกับการเก็บขยะในชุมชนและเป็นการเก็บขยะที่ไม่อายทุกคนคือผู้กล้าและช่วยให้เกิดความสะอาด นายกอบจ.จังหวัดนครปฐมวิ่งประมาณ 3 กิโลเมตร เก็บขยะได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 กก. งานนี้เป็นงานวิ่งคาร์บอนเครดิตรันงานแรกในประเทศไทย จัดในตำบลห้วยพระ มีผู้เข้าร่วม 800 คนหรือคิดเป็น 10%ของคนทั้งหมดในตำบล จากที่คาดไว้ว่าจะมีประมาณ 300- 400 คนเท่านั้น
“ในงานวิ่งมีการอธิบายตลอดทาง พร้อมทั้งมีนิทรรศการเล็กๆ เกี่ยวกับมลภาวะ สิ่งแวดล้อม พลาสติก คาร์บอนเครดิต และมีการแจกต้นไม้เมื่อเข้าเส้นชัย”
ผลสำเร็จของตู้ RVM ต้นทุนตอนนี้เครื่องต้นแบบ หรือ Prototype อยู่ประมาณ 100,000 กว่าบาท - เกือบ 200,000 บาท โดยให้ชุมชนหรือ VC เช่าตู้ไปตั้งตามชุมชนเดือนละ 800 บาท แล้วนำขยะมาบริหารจัดการ ซึ่งน่าจะคืนทุนใน 5 - 7 ปี นับว่าน่าสนใจเนื่องจากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่เป็นฟอสซิล เช่น ปั๊มน้ำมันมีจุดคืนทุนประมาณ 8 - 10 ปี นอกจากนี้ กำลังต่อยอดเรื่องการสร้างแพล็ตฟอร์ม Carbon Credit Bureau ซึ่งดำเนินการแล้ว 70% และอยู่ระหว่างรอ funding เพิ่มเติม เป็นการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ โครงการ WMRA แบ่งเป็นขั้น โดย Phase 1: เป็นการนำสตาร์ทอัพที่มีไอเดียมาปั้นเป็น business model จากนั้น Phase 2: คัดจาก 11 รายให้เหลือเพียง 4 รายที่ business model มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อให้เป็นต้นแบบ หรือ prototype และ Phase3: commercialize โดยสนับสนุนทั้ง connection และเงินทุน ให้เงินทุนสนับสนุน พร้อมทั้ง connect กับคนที่ต้องการลงทุนเพิ่มหรือต้องการจะ partner กัน โดยขั้นนี้เน้นดูว่าเมื่อนำเครื่องนี้ไปตั้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น ชุมชน ห้าง ฯลฯ ผลตอบรับเป็นอย่างไร มีคนใช้จริงหรือไม่ ยอมจ่ายเงินให้จริงหรือไม่ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เหลืออยู่ก่อนไปสู่ตลาดจริง หรือเป็น business model หรือ service สามารถไป plug in กับ corporate ใหญ่ๆ เช่น ปตท. เอสซีจี ให้ทดลองนำไปใช้ พร้อมขอการสนับสนุนเรื่องพื้นที่ และคำแนะนำ
SecondMuse เรียกขั้นนี้ว่า Customized venture building โดยต้องการต่อยอด เพื่อส่งให้สตาร์ทอัพถึงฝั่ง เพื่อให้มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วไอเดียนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมจริงๆ โดยขั้นที่สามนี้จะจบในเดือนธันวาคม 2566 โดยในระหว่างนี้ SecondMuse มีการจัด networking events ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนจากกลุ่มธนาคาร และ venture capitalist ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพได้มาพบกับสตาร์ทอัพเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จัก เพราะเฉพาะทาง ยังไม่เน้นผลกำไร แต่เน้นผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดย SecondMuse เข้าไปคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการสร้างผลกำไรในระยะยาวและอยู่บนแนวทาง ESG หรือช่วยองค์กรธุรกิจรายใหญ่ในการทำ report เกี่ยวกับ ESG
SecondMuse ก่อตั้งในปีพ.ศ.2551 มีสำนักงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย SecondMuse คือบริษัทที่สร้างผลกระทบเเชิงบวกและสนับสนุนนวัตกรรมในระดับโลก ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มชุมชนโดยมุ่งเน้นด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อันเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและรักษ์โลก บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันและโครงสร้างพื้นฐานเชิงสัมพันธ์ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักด้วยวิธีการที่มุ่งขับเคลื่อนด้วยผลกระทบต่อสังคม อันนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด รวมทั้งเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ออกแบบ พัฒนาและดำเนินการโครงการนวัตกรรมและการลงทุนเพื่อการดำเนินงานขององค์กรในกว่า 160 ประเทศ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทได้ที่ www.secondmuse.com
สำหรับ Seedstars ก่อตั้งในปีพ.ศ.2556 มีสำนักงานอยู่ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ Seedstars ประสบความสำเร็จในการก่อตั้งชุมชนขนาดใหญ่และเครือข่ายผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงกว่า 250,000 รายในระบบนิเวศที่เกิดใหม่กว่า 90 แห่งผ่านกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยผลกระทบที่หลากหลาย อาทิ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถและการลงทุน Seedstars ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พันธมิตร Seedstars ดำเนินการและลงทุนในกองทุนร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งลงทุนในบริษัทช่วง Pre-Seed ถึง Series A ทั่วทั้งภูมิภาคและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งยังทำการลงทุนโดยตรง ทั้งแบบร่วมลงทุนและลงทุนต่อเนื่องในบริษัทที่มีพอร์ตการลงทุน