พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางจากครัวเรือนและชุมชน
โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน และมีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” โดยจากการสำรวจในปี 2564 พบองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย มีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 (9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศจำนวน 24.98 ล้านตัน จึงจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566 – 2570) เป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศ ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนลงไม่ให้เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 โดยมีมาตรการลด หรือทิ้งให้น้อยลง ครอบคลุมตั้งแต่การจำหน่าย การประกอบอาหาร การบริโภค โดยมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลิตพลังงานชีวภาพ ทำให้ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยสมัครใจ ที่สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,870,000 ตัน สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเฉพาะขยะอาหารทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท รวมถึงพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหารต่อไป