พระเสียดายแดด! วัดป่าศรีแสงธรรม เผยความคืบหน้าโครงการวิจัย “โรงเรือนทำฟาร์มแบบเร่งรัดอัจฉริยะ” โดยการปลูกผักใต้แผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไปพร้อมกับการปลูกผัก โรงเรือนจวนแล้วเสร็จ
พระปัญญาวชิรโมลี นพพร เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ตามฉายา “พระเสียดายแดด” เปิดเผยความคืบหน้าโครงการปันแสง ปี 2 ที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการวิจัยโครงการแบ่งปันพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Sharing Project) พร้อมระบบ BESS ศรีแสงธรรมโมเดล จนกลายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานและการเกษตรโคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ติดตั้งระบบโซลาร์ปันแสง โดยใช้พื้นที่ทำการเกษตรใต้แผ่นโซลาร์เซลล์ แบบมีโรงเรีอนในการทำฟาร์มแบบเร่งรัดอัจฉริยะ หรือ Smart Intensive Farming โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง และแปลงธรรมชาติใต้แผ่นเป็นไม้ดอกกินได้ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไปพร้อมกับการทำงานเกษตร พร้อมทั้งยังมีระบบกักเก็บพลังงานเป็นแบตเตอรี่ลิเธี่ยมอีก 500 kwh. รองรับการชาร์จจากแผ่นโปร่งแสงที่เป็นงานวิจัย 90 kwp.ของวัดป่าศรีแสงธรรม
ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่สุดล้ำ เรียกว่า BESS (Battery Energy Storage System) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) จะทำหน้าที่กักเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินที่เหลือใช้ในแต่ละวัน ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ในเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ เพื่อนำมาใช้จ่ายไฟในช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าได้ซึ่งเหมาะกับโรงไฟฟ้าในอนาคตที่ชาร์จ และดิสชาร์จได้ รองรับนโยบาย RE100 ตามข้อตกลง COP
“แต่ส่วนตัวคิดว่าเอาไว้กีดกันทางการค้าของมหาอำนาจ และเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy ด้านพลังงาน เราใช้การพัฒนาแบบองค์รวมตามหลักปรัชญาพอเพียง หรือพุทธอารยเกษตร ที่เรียกว่า Sustainovation Agronomy Sisaengtham ” พระเสียดายแดด กล่าว
พระปัญญาวชิรโมลี บอกว่าแนวคิด BESS ยังสามารถนำไปตัดพีคในโรงงานหรือภาคธุรกิจ/ภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่เกิดพีคก็ใช้ระบบนี้จ่ายเข้าไปแทน และยังลดจำนวนหน่วยไฟฟ้าลงด้วยโซลาร์เซลล์แถมยังติดตั้งแบบ Maximum Load ได้ไม่ต้องกังวล หรือจะเอาไฟจากสายส่งช่วง Off Peak มาช่วยชาร์จแล้วค่อยมาจ่ายไฟช่วง On Peak
โครงการปันแสงมี 2 ลักษณะด้วยกัน 1) พืชผัก กับโซลาร์เซลล์แบ่งปันพลังงานกัน และ 2) การแบ่งปันพลังงานไฟฟ้าที่เก็บในแบตเตอรี่เอามาใช้ภายในวัด และติดตั้งเครื่องแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้กับชุมชน หรือชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการแก้จนทั้ง 5 มิติ และยังมีแนวโน้มถึงการจำหน่ายไฟเมื่อเหลือใช้ ซึ่งเป็นแนวทางในอนาคตที่ระบบไฟฟ้าที่เป็น Prosumer จะมีมากขึ้น และที่โรงเรียนอาจจะต้องคืนมิเตอร์ของการไฟฟ้าหันมาใช้โซลาร์เซลล์จากวัด 100% ในอนาคตอันใกล้
การปลูกผักใต้โซลาร์เซลล์ อาศัยให้แผงโซลาร์ช่วยกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ บังแดด และลดการเสียน้ำในพืช ส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้ดีขึ้น แถมยังอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็น BCG ศรีแสงธรรมด้านอาหาร และการเกษตร ‘ปลูกผักใต้แผงโซลาร์เซลล์’ ภายในโคก หนอง นา วัดป่าศรีแสงธรรม
สำหรับการทดลองปลูกพืชแบบ agrivoltaics หรือ agrophotovoltaics เมื่อเรานำสมุนไพรใกล้ตัวมาดูแลเรื่องอาหารเป็นยา ก็จะตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และการแพทย์ของ BCG Model ส่วนอีกอันที่เห็นเป็นสีธงชาติไทยคือมีประโยชน์ต่อพืชบางชนิดที่ต้องการสีแดงหรือสีอื่น ๆ แต่ที่นี่เป็นจุดเด่นที่หลายคนมาดูจึงใช้เป็นจุดเช็กอินที่ตอบรับกับ BCG ด้านที่ 4 คือ ท่องเที่ยวและบริการ
“โครงการเดียวตอบโจทย์ของรัฐบาลได้หมด และยังเป็นจุดเรียนรู้การนำปรัชญาพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้านต่าง ๆ อีกด้วย บางคนอาจจะค้านว่าไม่ใช่ แต่ลองดูมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้คนเขาลงทุนแค่ไหน หรือคณะอะไรรวยกว่ามหาเศรษฐี คงจะไม่มีเพียง แต่ให้ความรู้คือปัญญา เพื่อให้เขานำไปหาทรัพย์ทั้งภายนอกภายใน เท่านี้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว”
BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
พระเสียดายแดด กล่าวว่าในการทดลองนี้หากมีการส่งเสริมทางการตลาดอย่างจริงจัง ส่งเสริมและควบคุมการผลิตตามต้องการย่อมจะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน หรือผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม อย่างเช่นเมื่อวานก่อนฟาร์มหมูเจ้าใหญ่ของประเทศมาติดต่อให้ “ทีมงานช่างขอข้าว” ช่วยดูแลระบบโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ตอนกลางวัน และไบโอแก๊สในตอนกลางคืนเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายรายเดือนลง นั่นก็เป็นวิธีประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากวัดกลางโคกอีโด่ยธรรมดา อาจจะเป็นอีกตัวอย่างในการทำการเกษตรเป็นความมั่นคงตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG คือ น้ำ พลังงาน อาหาร ที่นี่จึงเป็นแหล่งทดสอบระบบ ทดลองงานทางด้านเทคโนโลยีพลังงานกับการเกษตรอย่างยั่งยืน หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม #โคกอีโด่ยวัลเล่ย์ #ศูนย์วิจัยพลังงานโคกอีโด่ยวัลเล่ย์ สำหรับโครงการอบรมโซลาร์เซลล์ ในเร็วๆ นี้ คือ 30 พ.ย - 1 ธ.ค. 66 เปิดรับจำนวน 10 คน ผู้สนใจติดต่อลงทะเบียน 094-298-5333