xs
xsm
sm
md
lg

พพ.ชวนไปสัมผัส “ศูนย์เรียนรู้ไร่แสนดี” ผู้กล้าพลิกผันชีวิตทำเกษตรทฤษฎีใหม่ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปีที่แล้ว ผลิตข้าวหอมใบเตย ข้าวอินทรีย์คุณภาพสูง พร้อมมีโอกาสแนะนำ โดยการไปออกบูทที่ประเทศเวียดนาม และสปป.ลาว โดยมีเป้าหมายยกระดับให้เป็นอัตลักษณ์ของชาวมหาสารคาม


ในคลิป ที่นี่คือฐานเรียนรู้ด้านบัญชี โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.แนะนำ ผ่านเชฟจากัวร์- นายธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ ที่พาไปรู้จัก เจ้าของศูนย์เรียนรู้ไร่แสนดี นายบรรจง แสนยะมูล วัย 48 อีกหนึ่งผู้กล้าพลิกผัน ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่

นายบรรจง แสนยะมูล เจ้าของศูนย์เรียนรู้ไร่แสนดี วัย 48 ปี ณ วันนี้ ในอดีตของเขาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คือพนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ยอมทิ้งเงินเดือนกว่าครึ่งแสนและอนาคตที่สดใสในเมืองหลวง แล้วหันมาจับจอบจับเสียม เดินทางกลับมาอยู่บ้านหนองยาง ต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพราะต้องการทำการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะเขามองว่าในอนาคตการเกษตรแบบพอเพียงจะทำให้คนอีสานมีอยู่มีกิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและไม่ต้องอพยพไปหากินที่อื่น

ต่อมาภายหลังราว 1 ปีที่นายบรรจง ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร ไผ่ตงลืมแล้งกว่า 1,000 กอ มะนาวพันธุ์ดี ไม้ดอก ไม้ผล พืชผักสวนครัวอีกหลากหลายชนิด เริ่มให้ผลได้เก็บขายเก็บกินเลี้ยงครอบครัวบ้างแล้ว การทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มทำให้เขามั่นใจว่าเป็นแนวทางที่เขาเดินมาถูกที่ถูกทางแล้ว

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่บ้านเกิดในจังหวัดร้อยเอ็ด บรรจงสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับหางานทำส่งเสียตัวเองเรียนจนจบ จากนั้นได้ทำงานเป็นพนักงานบริษัทในตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน มีเงินเดือนสูง พร้อมกับมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่สิ่งที่เขาต้องการกลับไม่ใช่ชีวิตที่อยู่อย่างสุขสบาย

“ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางกลับบ้านแฟนที่ จ.มหาสารคาม เมื่อเดินทางถึงโคราช สิ่งที่เห็นคือภาพท้องนาแห้งแล้ง ว่างเปล่า ไกลสุดลูกหูลูกตา จนเดินทางผ่านที่แปลงหนึ่งพบว่าที่ดินแปลงนี้ปลูกทั้งกล้วย อ้อย พืชผัก ผลไม้ ข้างๆมีบ่อน้ำเพียง 1 บ่อ ทำให้ที่ดินไม่กี่ไร่ กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เดินเข้าไปดูรู้สึกถึงความเย็นสบาย"

ส่วนชีวิตที่บ้านพ่อแม่ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ก็บอกว่าขายได้ราคาดี แต่ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหน สิ้นปีลูกๆก็ยังต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ให้ ธกส.ทุกปี มองว่าคือความทุกข์ของพ่อแม่ ไม่ใช่ของเราคนเดียวเท่านั้น แต่คิดว่าพ่อแม่ของหลายคนก็เป็นแบบนี้ ถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

"บรรจง" เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ซึ่งในระหว่างที่ทำงานบริษัท จึงเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสาน จากนั้นจึงนำความรู้และเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านหลายคน เพียงปีครึ่งดินที่เคยรกร้างว่างเปล่ากว่า 29 ไร่ ปรับสภาพให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่มีต้นไม้หลากหลายชนิด จนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้ทั้งความร่มเย็น แหล่งอาหารและสร้างรายได้กับครอบครัว โดยเฉพาะต้นไผ่ที่บรรจงและครอบครัวได้ลงแรงปลูก เพราะไผ่ปลูกง่าย โตเร็ว เป็นเหมือนไม้เบิกนำให้ต้นไม้อื่นได้เจริญเติบโต รวมถึงให้ความชุ่มชื้นกับพื้นดินด้วย เมื่อเห็นว่าการทำการเกษตรมาถูกทางแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วเดินหน้าเป็นเกษตรกรเต็มตัว พร้อมกับตั้งชื่อพื้นที่สีเขียวว่า “ไร่แสนดี เกษตรทฤษฎีใหม่”

“ถึงจะได้เงินเดือนหลายบาท แต่ความรับผิดชอบก็สูงตาม ผิดพลาดไม่ได้แม้เพียงเสี้ยวนาที เรียกว่าทำงานคุ้มกับเงินเดือนและความไว้วางใจที่บริษัทให้เรามา ช่วงที่ทำงานอยู่บริษัท ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการหลายด้าน ซึ่งเราก็นำมาปรับใช้ในงานเกษตรที่ทำอยู่ ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี ภูมิปัญญาดั้งเดิม รวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกด้วย ซึ่งความรู้ทุกเรื่องสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ตอนนี้มีรายได้จากการเก็บหน่อไผ่ กิ่งตอนไผ่ ต้นละ 50 บาท หากให้ไปส่งราคาต้นละ 60 บาท ขึ้นกับระยะทาง บางส่วนก็ขายกิ่งตอนมะนาว ส่วนไม้ผลอื่นๆทั้งมะม่วง ละมุด ลำไย มะเฟือง รวมถึงพืชผักสวนครัว หลากหลายชนิด ก็เก็บกินโดยไม่ต้องไปซื้อหาให้เสียเงิน บางส่วนก็เลือกที่จะขายและแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน”

ส่วนเรื่องน้ำบรรจงแก้ปัญหาด้วยการใช้พลังงานทดแทน โดยการติดตั้งกังหันลมแล้วดึงน้ำขึ้นมาใช้ ส่วนระบบการดึงน้ำขึ้นมาใช้นั้น จะมีทั้งระบบมอเตอร์ การใช้พลังงานคนจักรยานดึงน้ำ และพลังงานลม หากอย่างใดอย่างหนึ่งชำรุดสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ อนาคตจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่คนรุ่นใหม่ที่จะหันมาทำการเกษตรกลับลดน้อยลง ขณะเดียวกันเกษตรกรก็เน้นปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น บรรจงมองว่า หากไม่มีน้ำมันเราไม่ตาย แต่ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีอาหารเราตายแน่นอน

“เมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ผมตัดสินใจลาออก พร้อมกับอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้านเกิด"

ส่วนหนึ่งต้องการเป็นต้นแบบให้กับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ยังต้องอพยพเข้าทำงานในเมืองหลวง หันกลับมาดูแลบ้านเกิด สร้างความมั่นใจว่าการเกษตรแบบผสมผสาน กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน มีการวางแผนจัดการ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน การเกษตรสามารถตอบโจทย์เราได้ทั้งหมด จากนี้จะพัฒนาพื้นที่ที่ทำอยู่ให้เป็นแหล่งศึกษา ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ให้กับกลุ่มคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ลงมือทำร่วมกัน ตอนนี้คนที่สนใจก็จะรู้จักกันผ่านเฟสบุ๊คมีทั้งเป็นคุณครู ทหาร ทุกคนล้วนชอบการปลูกต้นไม้ ซึ่งผมให้การต้อนรับทุกคนที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันครับ

ติดตาม ไร่แสนดี ผ่านเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/p/Sandee-Farm

ผลักดันโครงการทอเสื่อกก สู่ชุมชนบ้านดอนตูม ตำบลเหล่า เครือข่ายหนึ่งของไร่แสนดี

 ไปร่วมงานเกษตรภาคอีสาน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไร่แสนดี มีการเลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่แบบต้นทุนต่ำ และต่อยอดด้วยการเลี้ยงปลา (คลิป) ถือเป็นการต่อยอด จากปศุสัตว์อินทรีย์
สู่ประมงอินทรีย์



กำลังโหลดความคิดเห็น