วานนี้ (12 ก.ย.2566) เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัย อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปิดเผยว่าได้เข้าพื้นที่เก็บกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า โดยภาพจากกล้องดักถ่าย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบช้างป่าออกมากินโป่ง ซึ่งเป็นโป่งเทียมที่เจ้าหน้าที่สร้างไว้ให้สัตว์ป่าได้เสริมแร่ธาตุ วิตามิน อีกหนึ่งมาตรการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับสัตว์ป่า ด้วยการเสริมแร่ธาตุอาหารที่จำเป็น เพื่อช่วยให้สัตว์ป่าแข็งแรง และปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ
ทั้งนี้ โป่ง (SALTLICK) เป็นแหล่งแร่ธรรมชาติที่ขาดไม่ได้ของสัตว์ป่า โดยโป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ โป่งดิน กับโป่งน้ำ
ดินโป่ง หรือโป่งดิน มีรสชาติเค็มเป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุหลากหลายชนิด ซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่ 2 แบบ คือดินโป่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และโป่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เรียกว่า "โป่งเทียม"
ดินโป่งแต่ละแหล่งจะมีแร่ธาตุแต่ละชนิดต่างกันออกไป แต่เนื่องจากช้างเป็นสัตว์กินพืชจึงต้องกินดินโป่งเพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ และทดแทนแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของสัตว์ป่า ซึ่งธาตุที่ขาดไปเหล่านั้นไม่สามารถทดแทนได้จากการกินพืช โดยส่วนประกอบหลักๆ คือ แร่ธาตุอาหารสัตว์ ไดแคลเซียมฟอสเฟต และเกลือแกง หากมีฝนตกหรือความชื้นจากน้ำค้างเกลือก็จะละลายทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม ช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีความสมดุล ช่วยให้ลำไส้ของสัตว์ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และขจัดสารพิษจากพืชที่กินเข้าไป
ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โป่ง สามารถใช้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การใช้ประโยชน์ทางตรงพบได้ในสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง ช้าง โดยสัตว์เหล่านี้จะกินดินจากโป่งดิน หรือดื่มน้ำจากโป่งน้ำเพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ครบถ้วน ส่วนการใช้ประโยชน์ทางอ้อมก็คือสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivores) หรือผู้ล่า เช่น สิงโต เสือและหมาใน จะได้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อมโดยการใช้เป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อหรือล่าสัตว์กินพืชที่ลงมากินดินโป่ง ซึ่งการล่าเหยื่อจากบริเวณนี้เป็นคำตอบว่าเหตุใดผู้ล่าจึงไม่จำเป็นต้องกินดินโป่งก็สามารถได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายได้ ซึ่งประโยชน์จากการกินต่อกันเป็นทอด ๆ นี้ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต (energy flow) เกิดขึ้นในระบบนิเวศซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุลอีกด้วย
ขณะเดียวกันมนุษย์เองก็ใช้ประโยชน์จากโป่งโดยทางอ้อมเช่นกัน เช่นใช้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยสังเกตจากรอยเท้าหรือร่องรอยที่ทิ้งไว้บริเวณโป่ง ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเพื่อการล่าสัตว์โดยมนุษย์มักจะดักยิงสัตว์ที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่ง
อ้างอิง : อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 สาขาเพชรบุรี