xs
xsm
sm
md
lg

3 ทางออกของมนุษยชาติ หากไม่อยากสูญพันธุ์ / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่ทราบกันว่าตอนนี้โลกได้เข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด”เเล้ว ไม่ใช่เเค่ภาวะโลกร้อนอย่างที่ผ่านมา และสัญญาณจากธรรมชาติขณะนี้กำลังเตือนเราอย่างหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกผ่านอุบัติภัยต่างๆ 


ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนเเปลงรุนแรงของสภาพภูมิอากาศโลกรวน ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเลหนุนสูงเรื่องจากน้ำเเข็งขั้วโลกละลาย ไฟป่าในฮาวาย


ทุกอย่างล้วนเกิดจากการเพิ่มของอุณหภูมิโลกทั้งสิ้น แล้วอะไรล่ะที่ทำให้โลกของเรามาถึงจุดนี้

มีการประมาณกันว่า เอกภพที่ก่อตัวขึ้นหลัง Big Bang ซึ่งเป็นระเบิดใหญอาจมีอายุมากกว่า 13,800 ล้านปี ในขณะที่โลกที่เราอยู่มีอายุเพียง 4,500 ล้านปี ในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ถึง 5 ครั้ง โดยทั้งหมดเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

เมื่อเทียบกับอายุโลก มนุษยชาติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 7 ล้านปีที่ผ่านมา แต่อารย ธรรมมนุษย์มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 250 ปีที่แล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่า The Great Acceleration เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ70ปี ที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการเปลี่ยนยุคทางธรณีวิทยาจากยุคที่ธรรมชาติมีอิทธิพลส่่งผลกระทบต่อมนุษย์ มาสู่ยุคที่มนุษย์มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อธรรมชาติแทน

The Great Acceleration นำมาสู่ความไร้สมดุลเชิงระบบระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ รวมถึงมนุษย์กับเทคโนโลยี ความไร้สมดุลนี้เองที่เป็นปฐมบทของการเกิดวิกฤตเชิงซ้อนต่างๆ ที่มีความถี่ที่เพิ่มขึ้น ในระดับความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ครั้งที่ 6

สิ่งที่น่าตกใจคือ การสูญพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตครั้งที่ 6 นี้ อาจไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ !

ดังนั้นผมจะพามาทำความรู้จักกับ 3 แนวคิดที่จะช่วยให้เหล่ามนุษยชาติรอดพ้นวิกฤตการณ์นี้กัน

1. ร่วมชายคาเดียวกัน (Co-habitation)
2. ร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation)
3. ร่วมวิวัฒน์ฟื้นฟู ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโลก (Co-Evolution)


มีทฤษฎีระบุว่าทุกๆหนึ่งองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติที่ไม่ใช่เชิงเส้นตรง เมื่อสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์เริ่มสูญพันธุ์ จะเกิดการทะยอยล้มครืนลงของระบบนิเวศ จนในที่สุด มนุษย์ก็อาจจะสูญพันธุ์ตามไปด้วย

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ก่อนที่มนุษยชาติจะสูญพันธุ์ พวกเราอาจจะต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากและความทุกข์ทรมานในแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อน ดังจะเห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ไฟป่า โรคระบาด ฯลฯ ที่เกิดถี่ขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นในวงกว้าง

"เมื่อสิ่งมีชีวิตรอบตัวเราเริ่มอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้"

นั่นคือ หลักสำคัญของแนวคิด “การอยู่ร่วมชายคา” หรือ “Cohabitation” ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การร่วมชายคาของมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ แต่รวมถึงการอยู่ร่วมชายคาเดียวกันระหว่างมนุษย์กับโลก ที่ประกอบด้วยแผ่นดิน ผืนฟ้า และมหานที

สิ่งที่มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ก็คือ ความสามารถในการสร้าง สะสม และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การตื่นรู้ การรับรู้ และการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเด็นวิกฤตเชิงซ้อนของโลก

คุณสมบัติเด่นข้างต้นอาจจำเป็น แต่ไม่เพียงพอต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติแบบองค์รวม ไม่ใช่แบบแยกส่วน แยกประเด็น ใช้มุมมองที่เปิดกว้างและลึกซึ้งขึ้น ผ่านแนวคิด“Cohabitation”

เพราะความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจะก่อเกิดความกระจ่างชัด เมื่อเกิดความกระจ่างชัดจึงจะเกิดปัญญา ที่จะหยั่งรู้ ปลุกจิตสำนึก และปรับเปลี่ยนชุดความคิดของพวกเราให้ถูกต้อง และนำพาไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งเชิงพฤติกรรมและโครง สร้างในที่สุด
จุดเปลี่ยนจึงไม่ได้อยู่ที่องค์ความรู้ แต่อยู่ที่ปัญญาที่ลุ่มลึก ผ่านการปรับชุดความคิด ให้ถูกต้อง

>จากการยึด “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) เป็นการยึด “โลกพิภพ” เป็นศูนย์กลาง (Eco-centric)
>จากการยึด “ตัวเอง” เป็นศูนย์กลาง (Self-centered) เป็นการยึด “เพื่อนมนุษย์” เป็นศูนย์กลาง (Philanthropic)
> จากการมุ่งเน้น “Current Generation” ก็จะให้น้ำหนักกับ “Future Generations” มากขึ้น


“Cohabitation” จึงเป็นชุดความคิดที่มองว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนแล้วแต่พึ่งพาซึ่งกันและกัน มีความสอดคล้องกัน จนเกิดเป็นดุลยภาพเชิงพลวัตที่มีความลงตัว

แน่นอนครับ แนวคิด Cohabitation จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นจากกาทำความเข้าใจพลวัตโลกภายนอก และย้อนกลับมาทำความเข้าใจพลวัตโลกภายในตัวเรา เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา

เพราะ “เมื่อโลกภายในของเราปรับ โลกภายนอกจึงจะเปลี่ยนตาม”

นี่คือ “ปัญญาของมนุษย์” จะทำให้ความยั่งยืนนั้น “ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง

อันดับถัดมาผมขอกล่าวถึง Cocreation

เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์โดยธรรมชาติ ต้องการ “การเติบโต” แต่ก็ต้องการ “ความมั่นคง” ด้วยในขณะเดียวกัน

การเติบโตและความมั่นคงในท่ามกลางพลวัตโลกในปัจจุบัน จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่าน “ความยั่งยืน” และการปรับสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ผ่าน “ความเท่าเทียม”

ทั้งนี้เป็นเพราะ…

>การเติบโตที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืน จึงจะเกิด“การเติบโตที่ยั่งยืน” (Sustainable Growth) อย่างเป็นรูปธรรม
>การเติบโตที่ควบคู่ไปกับความเท่าเทียม จึงจะเกิด“การเกื้อกูลแบ่งปันความมั่งคั่ง” (Shared Prosperity) อย่างแท้จริง
>ความมั่นคงที่ควบคู่กับความยั่งยืน จึงจะเกิด “การรักษ์โลก” (Saved Planet) อย่างมีนัยยะ
>ความมั่นคงที่ควบคู่ไปกับความเท่าเทียม จึงจะเกิด“ความเป็นปกติสุข” (Secured Peace) อย่างถาวร


การเติบโตที่ยั่งยืน การเกื้อกูลแบ่งปันความมั่นคั่ง การรักษ์โลก และความเป็นปกติสุข จึงเป็น “ 4 เจตจำนงร่วม” สอดรับกับแนวคิด Cohabitation

“Cocreation” หรือ การร่วมรังสรรค์ เป็นระบบกระบวนการขับเคลื่อนให้ 4 เจตจำนงร่วมดังกล่าวบรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยการสร้างแพลตฟอร์มการสานพลังของทุกภาคส่วน ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การเติบโตที่ยั่งยืน การเกื้อกูลแบ่งปันความมั่นคั่ง การรักษ์โลก และความเป็นปกติสุข จึงเป็น “เจตจำนงพื้นฐาน” ที่ใช้ในการวางนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ พัฒนาแพลตฟอร์ม และออกแบบกลไกขับเคลื่อน

>เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
>โมเดลเศรษฐกิจ BCG
> ธรรมาภิบาล การรักษ์สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม (ESG)


จึงอาจกล่าวได้ว่า การร่วมรังสรรค์ผ่าน 4 เจตจำนงพื้นฐานดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและพอเพียงในการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้ “ยั่งยืน”

อันดับสุดท้ายภายใต้โลกทัศน์ที่มองสรรพสิ่งเป็นเครื่องจักรกลเเละ การปฎิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 250 ปีที่แล้ว ตามมาด้วย The Great Acceleration ที่เกิดขึ้นในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด

“Systemic Disruption” ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ เช่น จากโลกขั้วเดียวเป็นโลกหลายขั้ว จากกระแสโลกาภิวัตน์เป็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ จากปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามาแทนที่ “ปัญญามนุษย์”

Systemic Disruption ที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ทำให้พวกเราอยู่ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความกลัว ความเครียด ความเหงาลึก ความซึมเศร้า ความย้อนแย้ง ความสับสน ฯลฯ เป็นชีวิตที่เริ่มแปลกแยกจากธรรมชาติ เป็นมนุษย์ที่เริ่มถอยห่างจากความเป็นมนุษย์

Cohabitation จะค่อยๆเปลี่ยน Systemic Disruption มาเป็น Holistic Coherence หรือ ความสอดคล้องเชิงองค์รวม ที่ก่อให้เกิด “การร่วมวิวัฒน์” หรือ Coevolution ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงมนุษย์กับโลกพิภพ Holistic Coherence ต่างหากที่จะนำพาพวกเรากลับไปสู่วิถีของ “ธรรมชาติดั้งเดิม” ความเป็น “มนุษย์ที่แท้” และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล

ถ้าหากเราทุกคนเข้าใจในแนวคิด Cohabitation Cocreation และ Coevolution จะทำให้ “ความยั่งยืน” ที่ทุกคนเรียกหา เกิด “ความยั่งยืน” ขึ้นได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญ จะทำให้เราหยั่งรู้ว่า Oneness = Wholeness


บทความโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม



กำลังโหลดความคิดเห็น