xs
xsm
sm
md
lg

UNGC เตรียมระดมพลังผู้นำธุรกิจทั่วโลก เร่งเครื่อง SDGs หลังโลกไม่เข้าใกล้เป้าหมาย 2030

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) ชวนจับตาการประชุม UNGC Leader Summit 2023 รวมพลผู้นำธุรกิจทั่วโลก เร่งเครื่อง SDGs เดือนกันยายนนี้ หลังรายงานสถานการณ์ SDGs ล่าสุดจาก Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เผยโลกไม่เข้าใกล้เป้าหมาย SDGs 2023

นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) เปิดเผยว่า จากการรายงานล่าสุดของ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ระบุว่า โลกกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตามวาระปี 2030 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า จากวิกฤตการณ์หลากหลายที่กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง การคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกตรวจสอบ และผลร้ายแรงของสงครามในยูเครน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทุกประเทศจึงควรทบทวนและแก้ไขยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ รวมถึงกรอบการลงทุนเพื่อ SDGs ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้นำธุรกิจมีโอกาสมากขึ้นที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และเร่งเครื่องสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)


นอกจากการประชุมสุดยอด SDG ปี 2023 (SDG Summit 2023) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ในสัปดาห์เดียวกัน UN Global Compact จะจัดการประชุม UNGC Leader Summit 2023 รวมพลผู้นำธุรกิจ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ผู้นำรัฐบาล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย SDG และผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสังคมจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันทบทวนบทบาทของภาคธุรกิจในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยจะเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ แนวโน้มของโลกในอนาคต ตลอดจนเครื่องมือและความร่วมมือที่จำเป็น เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย UNGC ได้เตรียมนำเสนอ 5 ประเด็นเร่งเครื่อง (Forward Faster) ที่สอดคล้องกับความท้าทายของโลก เพื่ออภิปรายในการประชุมดังกล่าว ได้แก่ 1) ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


2) การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดยใช้เป้าหมายสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยรับมือกับการปรับตัว เพื่อไม่ให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นไปกว่า 1.5C

3) ค่าครองชีพที่เป็นธรรม (Living Wage) คำนึงถึงความสำคัญของหลักประกันสิทธิถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม รวมถึงคู่ค้าในการทำธุรกิจ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่พอเพียงในการดำเนินชีวิต


4) การเงินและการลงทุน (Finance & Investment) ระดมทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยเน้นภาคธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น

และ 5) การฟื้นคืนแหล่งน้ำ (Water Resilience) สร้างความยืดหยุ่นในการใช้น้ำ ร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุผลเชิงบวกต่อน้ำในแหล่งน้ำ ที่มีความเสี่ยงอย่างน้อย 100 แห่ง ภายในปี 2030


สำหรับประเทศไทย คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกลไกการตรากฎหมาย การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เร่งระดมความคิดเห็น เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน SDGs เตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยหลายฝ่ายชี้ว่า ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าวาระปี 2030 และขับเคลื่อนความก้าวหน้าใน SDGs ทั้ง 17 ประเด็น

“โปรดติดตามผลงานจากภาคธุรกิจไปด้วยกัน เพราะการพัฒนาเป็นการทำอย่างต่อเนื่องให้เหมาะกับยุคสมัย
มาช่วยกันย้ำเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ว่าจะเร่งรัดประเด็นใด เพื่อช่วยให้ไทยได้มีการประกาศความมุ่งมั่นที่จะสร้าง
การเปลี่ยนแปลง โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่นเดียวกับการประกาศระดับโลกที่เคยประกาศไว้ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน” ธันยพร กล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น