เมืองเอสกิลส์ทูนา (Eskilstuna) ประเทศสวีเดน ใช้ระบบคัดแยกขยะที่ไม่เหมือนใคร เรียกว่า “ Rainbow Recycling” หรือ “ถุงขยะสีรุ้ง” ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนเวลา สำหรับการรีไซเคิล 50% ให้ได้ภายในปี 2020
รู้หรือไม่❓แทบทุกคนในเมืองเอสกิลส์ทูนา ปฏิบัติตามนโยบายสนับสนุนการรีไซเคิล จากการส่งเสริมให้ผู้คนคัดแยกขยะที่บ้านซึ่งเป็นต้นทางสร้างขยะ เมื่อผู้คนถูกคาดหวังให้คัดแยกขยะในครัวเรือนมากขึ้น แม้ว่าจะแบ่งถุงขยะคัดแยกถึง 7 ประเภทที่ดูเหมือนว่าอาจจะทำให้เกิดความสับสน ทิ้งผิดถุง แต่ความเป็นจริงกลับเป็นสิ่งที่จูงใจคนจากรหัสสีรุ้งที่ดูสดใส มองเห็นชัดเจน
ถุงขยะสีรุ้ง จำแนกประเภทขยะตามสี 7 ประเภท คือ
💚ถุงสีเขียว - สำหรับขยะประเภทอาหาร
💙ถุงสีฟ้า – สำหรับหนังสือพิมพ์
❤️ถุงสีแดง – สำหรับขยะพลาสติก
💛ถุงสีเหลือง – สำหรับขยะกล่องกระดาษ
💗ถุงสีชมพู – สำหรับขยะผ้า และสิ่งทอ
🤎ถุงสีน้ำตาล – สำหรับขยะโลหะ
🤍ถุงสีขาว - สำหรับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษทิชชู่ใช้แล้ว และผ้าอ้อมสำเร็จรูป
เทศบาลของเมือง แจกถุงสีต่างๆ สำหรับคัดแยกขยะในครัวเรือน เมื่อถุงเต็มก็จะมัดเข้าด้วยกัน และโยนลงในถังขยะที่รถขยะเทศบาลมาเก็บทุกสองสัปดาห์
🛢️สำหรับขยะประเภทอาหารนั้นจะถูกนำส่งให้กับโรงงานโดยตรง เพื่อนำไปใช้ทำก๊าซชีวภาพสำหรับขับเคลื่อนรถประจำทางในเมือง
⚡️ส่วนขยะที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ก็จะถูกส่งเข้าเตาเผาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเมือง เป็นการช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
จากความร่วมมือของชาวเมืองในการช่วยกันคัดแยกขยะ ส่งผลให้เมืองเอสกิลส์ทูนา บรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนเวลา ในการรีไซเคิล 50% ของขยะให้ได้ภายในปี 2020
สีสันที่สดใสของถุงขยะสีรุ้ง ทำให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะสามารถเลือกถุงและแยกถุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศษอาหารในถุงสีเขียวถูกนำไปแปรรูปเป็นสารละลายเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งให้พลังงานแก่รถโดยสารประจำทางของเมือง ข้อดีประการหนึ่งของวิธีการรีไซเคิลนี้คือมีการปนเปื้อนข้ามน้อยลง ดังนั้นขยะรีไซเคิลสามารถนำไปใช้สร้างสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น
ทุกวันนี้ ที่นี่จึงเป็นเมืองและประเทศต้นแบบ ด้านการจัดการขยะในระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งระบบดังกล่าวยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบจนเกือบเป็นศูนย์
อ้างอิง
https://www.bbc.co.uk/learningenglish/features/lingohack/
https://aleteia.org/2019/07/01/heres-how-one-town-manages-to-send-nothing-to-the-landfill/
https://www.theguardian.com/environment/2019/jun/18/eskilstuna-how-a-swedish-town-became-the-world-capital-of-recycling
Clip Cr.BBC Learning English