xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เหตุ “รีไซเคิลพลาสติกทั่วโลก” เพียงร้อยละ 9 แก้มลพิษพลาสติกไม่รู้จบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่มากขึ้นบนโลกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการรีไซเคิลมักถูกนำเสนอว่าเป็นทางออกสำคัญในการจัดการพลาสติก แต่ความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน อัตราการรีไซเคิลพลาสติกโดยรวมทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 9 เท่านั้น ดังนั้นขยะพลาสติกส่วนมากถูกนำไปฝังกลบ หรือไม่ก็ถูกทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นมลพิษ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าขยะพลาสติกส่วนหนึ่งได้เล็ดลอดลงสู่คูคลอง แม่น้ำ และไหลลงสู่ทะเล อีกทั้งพลาสติกยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตตั้งแต่กระบวนการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราวร้อยละ 4.5 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาทั้งโลกซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมการบินเสียอีก

ทุกวันนี้ “มลพิษพลาสติก” กลายเป็นวิกฤตของโลกซึ่งเป็นเหมือนภัยคุกคามที่เขยิบเข้ามาหาทุกชีวิต นั่นคือสาเหตุที่ยูเอ็น ให้ความสำคัญมาก พร้อมออกมาชูธีม วันสิ่งแวดล้อมโลก 2566 หรือ World Environment Day 2023 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า “รักษ์โลก ลดพลาสติก” โดยชวนคนทั่วโลกติดแฮชแท็ก #BeatPlasticPollution



Clip Cr.UN Environment Programme

มลพิษพลาสติก ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถจัดการได้ด้วยคนเพียงหนึ่งคนแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศทั่วโลกที่จะเข้ามาแก้ไขในฐานะประชาคมโลก ทำให้ในวันที่ 29 พฤษภาคมถึง 2 มิถุนายน ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐ (United Nations Intergovernmental Negotiating Committee; INC) ในหัวข้อการจัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฯ ฝรั่งเศส มีมติที่จะร่วมกันร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ฉบับแรกให้เสร็จภายในพฤศจิกายนนี้ 

เป้าหมายของร่างนี้ก็เพื่อที่จะให้รัฐบาลทั่วโลกและกลุ่มธุรกิจลดพลาสติกที่พวกเขาผลิตออกมาทันทีและเปลี่ยนไปสู่ระบบใช้ซ้ำและการเติม ซึ่งการลดพลาสติกไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่มันหมายรวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

นั่นเพราะว่า ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังผลิตได้ปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตพลาสติกของตนเอง ผู้คนในชุมชนที่อยู่ติดกับทะเลรวมถึงสัตว์ทะเลต่างก็เป็นผู้รับผลกระทบจากพลาสติกที่คั่งค้างในระบบนิเวศทางน้ำและแน่นอนว่าสิ่งนี้จะอยู่ยงคงกระพันไม่หมดไปง่ายๆหากไม่ยุติที่ต้นตอ หากร่างสัญญานี้เกิดขึ้นจริงคุณภาพของทุกชีวิตจะถูกยกให้สูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมมากกว่าการเอื้อต่อผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมที่แสวงหาแต่ผลประโยชน์เท่านั้น นี่จึงเป็นโอกาสที่เราทุกคนต่างต้องให้ความสำคัญกับการเรียกร้องเพื่อผลักดันให้สนธิสัญญาในครั้งนี้เกิดขึ้นจริง การประจักษ์ของปัญหามลพิษพลาสติกชัดเกินกว่าจะมองข้าม

แต่การประชุมในครั้งนี้ก็มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นจนได้ เมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ต่างก็ชัดเจนในแผนพัฒนาระดับชาติของตนเองมากกว่าภารกิจที่ทั่วโลกจำเป็นต้องทำอีกทั้งยังมีเป้าประสงค์ที่ต้องการจัดการกับปัญหาพลาสติกแค่ที่ปลายทางมากกว่าต้นทางการผลิต ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบและกังวลว่าจะมีการตุกติกอันก่อให้เกิดความล้มเหลวในภารกิจครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้แต่คาดหวังว่าประเทศเหล่านี้จะไม่ลดทอนความตั้งใจของประเทศอื่นๆ และหวังให้พวกเขาคำนึงถึงผลประโยชน์อันแท้จริงที่ส่งผลต่อประชากรโลกและสิ่งแวดล้อมโดยวางผลประโยชน์ของตนเองลงไว้ก่อน นี่เป็นอีกประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกควรจับตามอง และคาดหวังเป็นอย่างมากว่าสนธิสัญญาดังกล่าวนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างยุติธรรมโดยไม่กระทบกลุ่มผู้เปราะบางที่มีโอกาสเสียเปรียบในการเปลี่ยนแปลงนี้ และจะต้องเป็นสัญญาที่ทำตามจุดประสงค์อย่างมุ่งมั่นและชัดเจน เพื่อที่จะสามารถยุติมลพิษพลาสติกได้อย่างทันท่วงที

อ้างอิง
https://www.unep.org/news-and-stories/speech/global-deal-beat-plastic-pollution
https://www.bbc.com/news/science-environment-60590515?fbclid=IwAR1AMJqXMntw0mKstRjhLG8Ps5PZPouhM7Q4gDyfAi8HzUDhTe1rzONKMMw


กำลังโหลดความคิดเห็น