นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.2566) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”
โดยจะเป็นกรมที่รับผิดชอบภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยตรง ทั้งการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป้าหมายคือ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในคราวเดียวกันนี้ด้วย เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ สามารถดำเนินงานได้ทันทีด้วยความราบรื่นไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และของประชาชน ต่อไป โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมนี้ จะมีโครงสร้างการทำงานที่ปรับปรุงจากโครงสร้างเดิมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีโครงสร้างส่วนหนึ่งมาจาก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องเสนอร่างกฎกระทรวงการปรับปรุงโครงสร้างของทั้ง 2 หน่วยงาน และ พ.ร.ฎ. เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในคราวเดียวกัน
สำหรับโครงสร้างการดำเนินงานของ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะประกอบด้วย 1) สำนักงานเลขานุการกรม 2) กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก 4) กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ 5) กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ 6) ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึง กลุ่มตรวจสอบภายใน และกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
“การปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนับจากนี้ไปมีความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น และยังเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอีกด้วย” นายวราวุธ กล่าวในที่สุด