“ข้าว” มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ รู้หรือไม่! ว่าการทำนาในประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด
โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า)
สำหรับสาเหตุหลักที่ชาวนาไทยไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ คือ แรงจูงใจ
ในคลิป เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เดิมบาง ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นชาวนาใน 6 จังหวัดภาคกลางที่กำลังนำร่องเพื่อปรับเปลี่ยนการทำนาของพวกเขาโดยได้รับความรู้ การสนับสนุนนำร่องภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ "ไทยไรซ์ นามา" (Thai Rice NAMA)
โครงการดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และภาคีต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ของชาวนา ด้วยการใช้ 4 เทคโนโลยี ที่จะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้น้ำ เพิ่มผลผลิตและลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
1. เทคโนโลยีการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์
2. การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
3. การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือที่รู้จักกันว่าปุ๋ยสั่งตัด
4. เทคโนโลยีการจัดการฟางและตอซัง
พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ชาวนารักโลก” ชมคลิป " 4 เทคโนโลยีทำนาลดโลกร้อน”
อ้างอิง
โครงการไทยไรซ์ นามา(#ThaiRiceNAMA) https://www.asean-agrifood.org/thai-rice-nama-th/
https://www.thai-german-cooperation.info/th/