xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้มมาก! นกเงือกกรามช้างตัวผู้ ป้อนอาหารลูกน้อยในโพรง ที่อช.ตาดหมอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.66) อุทยานแห่งชาติตาดหมอก โพสต์ภาพนกเงือกกรามช้างตัวผู้ ขณะกำลังป้อนอาหารลูกน้อยที่อยู่ในโพรง ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติตาดหมอก - สองนาง

ภาพประทับใจดังกล่าวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ และการปกป้องผืนป่าอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า





ในฤดูกาลทำรังและเลี้ยงลูกของนกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู๋กี้ (Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus ) เริ่มแสวงหารัง (ทำรัง) ประมาณเดือนมกราคม จนกระทั่งลูกนกเติบโตและออกจากโพรงรัง ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี (ในภาพ) มองเห็นลูกที่เติบโตและใกล้เวลาที่จะออกจากรัง

ด้านพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของนกเงือกกรามช้าง เป็นแบบพ่อนกเลี้ยงเพียงตัวเดียว โดยฝ่ายพ่อจะเป็นผู้แสวงหาอาหาร นำมาป้อนเสบียงถึงรัง คอยเลี้ยงดูทั้งแม่และลูกนก แต่ละครั้งจะเลี้ยงลูกเพียง 1 ตัว ส่วนอาหารที่นำมาป้อน และชอบกินส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เช่น ไทร ยางโอน หว้า ตาเสียเล็ก สุรามะริด ตาเสือใหญ่ มะอ้า พิพวน มะเกิ้ม ส้มโมง ฯลฯ แต่ก็กินอาหารจำพวกสัตว์บ้างแต่ไม่มากนัก คือแมลงต่างๆ

นกเงือกกรามช้างบินได้ไกลมาก หากินได้ทั่วไปจนได้ชื่อว่าเป็น “ยิบซีแห่งพงไพร” ตอนนอกฤดูผสมพันธุ์ชอบอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ เช่นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคยนับได้ถึงกว่า 1,000 ตัว เมื่อ พ.ศ. 2527 นกกู๋กี๋ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบจากที่ราบจนถึงที่สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจพบได้ในป่าเบญจพรรณ อย่างที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติตาดหมอก และยังพบตามเกาะต่างๆ ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์อีกด้วย


สำหรับนกเงือกกรามช้างที่โตเต็มวัย มีขนาด 110 เซนติเมตร ขนาดเล็กกว่านกกกเล็กน้อย โหนกเตี้ยแบนมีลอนหยัก จำนวนของลอนบ่งบอกถึงอายุของนก คืออายุ 1 ปี มี 1 ลอน ที่เคยพบในธรรมชาติมีจำนวนลอนมากที่สุดถึง 10 ลอน ขนตามตัวและปีกสีดำ หางขาวปลอด ปากด้านข้างมีรอยหยัก ตัวผู้มีขนส่วนท้ายทอยสีน้ำตาลเข้ม หน้า ขมับและคอขาว ถุงใต้คอสีเหลืองมีขีดดำด้านข้าง ตัวเมียมีขนสีดำปลอด ยกเว้นหางขาว ถุงใต้คอสีฟ้าและมีขีดดำด้านข้าง ส่วนนกในวัยรุ่นเหมือนตัวเต็มวัยจำนอนลอนของโหนกไม่เกิน 3 ลอน ปากด้านข้างมีรอยหยักน้อยหรือเกือบไม่มีเลย

ส่วนลูกนกกรามช้าง ตอนแรกออกจากรังมีสีขนเหมือนนกตัวผู้ ถุงใต้คอสีเหลืองมีรอยสีดำเป็นขีดจางๆ

อ้างอิง
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก - TatMok National Park
http://hornbill.or.th/th/about-hornbills/hornbill-species/wreathed-hornbill/


กำลังโหลดความคิดเห็น