xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต มุ่งสร้าง ”เศรษฐกิจเกื้อกูล-สังคมยั่งยืน” ผนึกสสส.ยกระดับการพัฒนาสังคม บรรลุ 4 พันธกิจหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยรังสิต เปลี่ยนปัญหาชุมชนเป็นโอกาสยกระดับความร่วมมือกับสสส.ในโครงการ “การพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี” ต่อยอดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ สู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยการผนวก 4 พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยให้สอดรับไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมของม.รังสิตว่า หลังจากประสบความสำเร็จใน “โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินการ 33 โครงการย่อย เพื่อสร้างรายได้จาก 3 ทางคือจากที่ดินรกร้าง จากสิ่งที่เป็นขยะหรือมลภาวะ และจากองค์ความรู้และงานวิจัย โดยมีตัวอย่างโครงการ อาทิ การปลูกผักในเมือง โครงการเพาะต้นกล้า การผลิตปุ๋ย ผลิตภัณฑ์จากกาบมะพร้าว การผลิตดอกไม้จันทน์และพวงหรีดจากผักตบชวา เป็นต้น ที่จัดทำขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้นักศึกษาและชาวบ้านในชุมชนหลักหกมีความรู้และทักษะจากประสบการณ์ตรงและสามารถสร้างรายได้ผ่านโครงการต่างๆ

 ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ดังนั้น ม.รังสิตจึงยกระดับความร่วมมือกับสสส. โดยมีแผนงานร่วมทุนในโครงการ “การพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี” ซึ่งสสส.จะสนับสนุนทุน 80% และม.รังสิตสนับสนุน 20% จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” (LakHok Development Center หรือ LHDC) ภายใต้สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในการเป็นแกนหลักด้านงบประมาณและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมทุนที่ยั่งยืน และเกิดเป็นแหล่งทุนระยะยาวสำหรับการดำเนินงานสร้างสุขภาวะของประชาชนจังหวัดปทุมธานี

โครงการฯ มีการวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมและยั่งยืน อาทิ การศึกษา สุขภาพ อาหาร สิ่งแวดล้อม และจิตอาสา นอกจากการสร้างรายได้ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ชุมชนให้ความสำคัญ โดยแบ่งเป็น 3 เฟสๆ ละ 1 ปีครึ่ง รวมระยะเวลา 4 ปีครึ่ง เริ่มเฟสแรกในปี 2565 เป็นการดำเนินการ 30 โครงการย่อยในพื้นที่หลักหก ซึ่งกำลังจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ สำหรับเฟสสอง เป็นการดำเนินโครงการในพื้นที่หลักหก 50% และพื้นที่ใกล้เคียงหลักหก 50% เช่น ธัญญบุรี และคูคต ส่วนเฟสสาม เป็นการดำเนินโครงการครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

สำหรับตัวอย่างโครงการเด่นเป็นต้นแบบสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ชุมชนและสังคมมีหลายโครงการ เช่น “โครงการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นแปลงเกษตรปลอดสาร” ด้วยการปลูกพืชผักหลายชนิด เพื่อบริโภคและจำหน่ายในชุมชน ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีสามารถสร้างรายได้และมีการขยายผลให้กับ ”โรงเรียนสุลักขณะ” ซึ่งเป็นโรงเรียนด้อยโอกาส โดยนำพื้นที่รกร้างในโรงเรียนมาพัฒนาเป็นแปลงเกษตรปลูกพืชผักปลอดสารเคมี และจัดทำโรงเพาะเห็ด ทำให้เด็กนักเรียนและครูมีองค์ความรู้และได้พัฒนาทักษะ พร้อมทั้งได้ผลผลิตมาเป็นอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้ นอกจากนี้ ยังขยายผลไปสู่ครัวเรือนเพราะเด็กนักเรียนกลับไปชักชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองปลูกพืชผักที่บ้านของตนเอง ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายและได้วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยอีกด้วย


“โครงการนี้น่าจะมี Social Impact สูง เพราะเกิดแกนนำทั้งเด็กๆ และครูที่ช่วยให้การขยายผลทำได้ง่าย ตอนนี้มีโรงเรียนอื่นๆ ให้ความสนใจอยากนำไปทำบ้าง และ ไม่เพียงช่วยพัฒนาให้สามารถสร้างรายได้ แต่เรายังมีโครงการอบรมให้ความรู้ในการทำบัญชีพื้นฐานเพื่อให้ชุมชนและครัวเรือนมีความเข้าใจและสามารถจัดการด้านการเงินด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำแล้วเพราะจบโครงการ แต่เราคาดหวังให้โครงการเดินหน้าต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการเงินเป็นเรื่องสำคัญ”

อีกตัวอย่างโครงการเด่น คือ “การแปลงขยะเป็นสิ่งประดิษฐ์” โดย “โรงเรียนวัดรังสิต” นำไปพัฒนาให้เด็กนักเรียนมีองค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง เช่น มีการแยกขยะแต่ละประเภท การรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดการตื่นตัว ตระหนักและมีสำนึกทางสังคมในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“อาหารปลอดภัย” เป็นโครงการยกระดับคุณภาพร้านอาหารภายในมหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อให้มีการจัดการด้านสุขอนามัยเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการที่ประหยัดและถูกต้อง นับเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะการได้บริโภคอาหารที่มีวิธีการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคเพิ่มคุณภาพอาหารปลอดภัยให้สังคมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมี ”กิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” เป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาผู้สูงวัยในชุมชนหลักหกซึ่งมีจำนวนมาก เช่น กิจกรรมกายบริหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ โดยมีอาจารย์จากม.รังสิตไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ากายบริหารที่ถูกต้องและมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้ง มีกิจกรรมการสานผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองให้กับผู้สูงวัยจากการได้ทำประโยชน์อีกด้วย


ทั้งนี้ โครงการสร้างรายได้จากผักตบชวาเป็นโครงการที่ทำไปก่อนแล้ว โดยครั้งนี้ได้รับทุน “Smart Start-up” จากธนาคารออมสินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ดอกไม้ แจกัน เป็นต้น เพราะได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างดี

ในส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของโครงการฯ ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนหลักหก ไม่ว่าจะเป็น การทำ Home Isolation การให้บริการฉีดวัคซีน การตรวจเชิงรุก ส่งข้าวส่งน้ำ ยาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ ทำให้ชุมชนเมืองเอกและหลักหกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับม.รังสิตอย่างมาก และด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าคุณภาพเพราะร่วมมือกับม.รังสิตและสสส. ทั้งยังมาจากชุมชน จึงให้การสนับสนุน เกิดเป็น “เศรษฐกิจเกื้อกูล” อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อได้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการที่ม.รังสิตร่วมกับสสส. ทำให้เทศบาลตำบลหลักหก เห็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชน จึงเสนอให้ม.รังสิตจัดกิจกรรมอบรมการทำ Eco Print เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้คนในชุมชนที่มีความสนใจ นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อพิมพ์ลาย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมการขายสินค้าออนไลน์แบบง่ายๆ โดยมีนักศึกษามาช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวเพื่อให้ทำได้จริง


ผศ.ดร.นเรฏฐ์ ทิ้งท้ายว่า “4 พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ 1) การเรียนการสอน 2)การวิจัย 3)บริการวิชาการ และ4) ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สามารถผนวกกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือนำไปใช้กับการพัฒนาชุมชนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการนำวิชาความรู้ที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไปใช้ในกิจกรรมของชุมชน การวิจัยที่ตอบโจทย์ชุมชน การให้บริการทางวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้สืบทอดยืนนาน เกิดประโยชน์จริง ชุมชนได้นักศึกษาเข้าไปช่วย นักศึกษาก็ได้ประสบการณ์ตรง มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมาย เรียกได้ว่าเป็น Community Engagement Education หรือ การศึกษาที่มีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจเกื้อกูล สังคมแข็งแกร่ง และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน“