xs
xsm
sm
md
lg

ESG แผนภูมิธุรกิจใฝ่ดี 3 ด้าน หนุนแบรนด์องค์กรให้ยั่งยืน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาแรงครับ…ทุกวันนี้ กระแสสังคมโลกและนักลงทุนให้ความสำคัญ กับแนวปฏิบัติESG จึงมีแนวโน้มที่จะเลือก คบค้า และสนับสนุน หรือร่วมลงทุนกับกิจการทีเก่ง+ดีแนวนี้

ยิ่งสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ มีความผันผวนส่งผลกระทบลุกลาม โดยเฉพาะวิกฤตด้าน ดิน ฟ้าอากาศ โลกรวน ได้สร้างผลเสียหายรุนแรงในหลายภูมิภาคโลก

เมืองไทยเราก็ยังโดนซ้ำเติมด้วย ฝุ่นละอองจิ๋ว PM2.5 หมอกควัน และมลพิษ ทำร้ายสุขภาพผู้คนในหลายจังหวัดขณะนี้

ภาวะการณ์เหล่านี้ของโลกจึงเรียกว่า VUCA World มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ได้ส่งผลต่อเนื่องสู่ภาวะการณ์ที่เรียกว่า BANI World ที่สังคมเกิดสภาพ อ่อนไหว เปราะบาง กังวลใจ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆไม่เป็นสมการเส้นตรง จึงทำนายยากและเข้าใจยาก

ยิ่งตอกย้ำว่า การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจยุคนี้ต้องให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติ ESG คือดำเนินกิจการด้วยจุดมุ่งหมายดี มีเป้าหมายสร้างให้เกิดผลดีทั้ง 3 ด้าน คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(Environmental) รับผิดชอบต่อสังคม / ผู้มีส่วนได้เสีย( Stakeholeder) และมีธรรมาภิบาล (Governance)

ESG จึงเป็นเสมือน”แผนภูมิธุรกิจ” ที่กำหนดภาคส่วนสำคัญ 3 ด้าน ในการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอน ต้องคำนึงถึง(E)การสร้างผลดีต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (S)ส่งเสริมสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย (G)บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล คือทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม




การจัดเสวนา "ESG and Corporate Brand : ถอดรหัสแบรนด์องค์กรที่สำเร็จอย่างยั่งยืน" โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสื่อในเครือผู้จัดการ ที่ห้องสมุดมารวย เมื่อวันที่ 22 มีนาคมศกนี้ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ทั้งผู้ไปฟังสดในงานและผู้ติดตามหลังรายการทางช่องทางFacebook Link SET Thailand และ Page Fagebook : Green&SD manager

รายการนี้ผมได้ไปดำเนินรายการเสวนา โดยขอให้ ศาสตราจารย์เกียรติ คุณ ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯเล่าถึงความสืบเนื่องกับงานมอบรางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรไทย ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับการประเมินแบรนด์องค์กรบริษัทจดทะเบียนไปถึงระดับอาเซียน

มีการมอบรางวัล ASEANํ ํs Top Corporate Brand ประจำปี 2565 ซึ่ง AOT เป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัลนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมกับสุดยอดแบรด์องค์กรไทยปีล่าสุด ได้แก่ CBG TISCO MTC TQM TOA AWC GULF BCH HMPRO VGi BEM KCE และTAC

เป็นผลจากที่ ดร.กุณฑลี ร่วมกับ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ได้วิจัยและคิดสูตรคำนวณมูลค่าแบรนด์ ที่เชื่อมโยง มิติการเงิน การบัญชี และการตลาด โดยใช้มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณหามูลค่ากิจการ(Enterprise Value)

นั่นย่อมเป็นผลลัพธ์จากการสั่งสมชื่อเสียงการยอมรับของสังคม ที่สะท้อนจากผลประกอบการที่ดีและองค์กรมีแนวปฏิบัติที่ดีของESG

อาจารย์กุณฑลีกล่าวถึงแนวคิดการมุ่งสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 1994 โดยJohn Blkington ได้ตีพิมพ์บทความใน Harvard Business Review ชี้นำว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมทุกวันนี้ ธุรกิจจะมุ่งทำกำไรด้านเดียวไม่พอ และไม่ยั่งยืน จึงเสนอแนวคิด Triple Bottom Line ที่วัดผลลัพธ์ความสำเร็จของธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะคำนึงถึงความสมดุลของ 3P คือ กำไร (Profit ) ผู้คน (People ) รักษ์โลก (Planet ) ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทาง ESG

ตัวอย่างที่ดีก็คือ บริษัท IKEA ซึ่งผู้บริหารสูงสุด (CEO) มีแนวคิดว่า "This Planet is Our Home" “โลกนี้คือบ้านของเรา” ถ้าไม่ดูแลบ้านเราให้ดี บ้านก็จะสกปรกและเป็นที่เพาะเชื้อโรค จึงควรมีวิถี Green Lifestyle

จุดมุ่งหมายธุรกิจIKEA "ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในโลกนี้" จึงออกแบบและผลิตสินค้าด้วยวัสดุที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือ Green resource และคิดค้นพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การเป็น Green packaging ที่มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์แบนๆ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและสร้างทางเลือกให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคไปประกอบเองได้ โดยมีคู่มือการใช้งานที่เข้าใจง่าย หรือจะให้ทีมงานของบริษัทประกอบให้ก็โดยจ่ายค่าบริการ

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในการส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในแนวทาง ESGซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการช่วยยกระดับการพัฒนาที่สมดุลทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ซึ่งจะมีผลลัพธ์คือความยั่งยืน และเป็นสิ่งที่นักลงทุนมืออาชีพและนักลงทุนสถาบันในระดับโลกให้ความสำคัญ ในการตัดสินใจเลือกลงทุน

เพราะโลกปัจจุบัน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งดร.ศรพล ชี้ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมี 4 ประการ ได้แก่

1 การเปลี่ยนแปลงกลไกโลกและสภาพแวดล้อม

2 ความสนใจและความคาดหวังของผู้ลงทุนเปลี่ยนไป

3 กฎระเบียบเริ่มเป็นมาตรฐานบังคับมากขึ้น จากเดิมที่เป็นแบบสมัครใจ

4 ข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทุนมีมากขึ้นและมีความก้าวหน้าในการวิเคราะห์

ดังนั้นตอบข้อสงสัยว่า ESG เกี่ยวข้องอะไรกับแบรนด์องค์กร

ดร.ศรพล กล่าวว่า เมื่อกติกาโลกเปลี่ยนและความคาดหวังของสังคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับผลการดำเนินธุรกิจที่มีความสมดุลทั้ง 3 ด้านของESG

“เมื่อพูดถึง ESG อธิบายได้หลายแง่มุม กรอบของสหประชาชาติก็เรียกว่า SDGs (Sustainable Development Goals) คือ 17เป้าหมายของโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้ามองในฝั่งที่ใกล้เคียงกับการลงทุนก็เรียกว่า ESG" 

E สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ มีตั้งแต่ฝุ่น ป่า น้ำ S สังคม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นการจัดการด้านแรงงาน ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ในสถานที่ทำงานและการดูแลพนักงาน G ธรรมาภิบาล มีความถูกต้องเป็นธรรมและโปร่งใส ในการบริหารจัดการ

ดร.ศรพล แนะว่าในแนวทาง ESG แต่ละองค์กรโดยเฉพาะ E กับ S ควรเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับความเป็นตัวตนของประเภทธุรกิจ เช่นบริษัทด้านพลังงาน ก็ควรมุ่งไปทางพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน หรือการมุ่งผลดีต่อสังคมพนักงานด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมและระบบบริหารบุคลากรเพื่อให้เป็น Happy Work Place และให้โอกาสผู้ด้อยโอกาสหรือคนสูงอายุมาทำงาน จนทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า มีงานทำที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เพราะความสงสาร

แต่ ESG ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวG (Governance) ที่ทำผิดไม่ได้ เพราะการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ดังนั้นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล(G) ก็จะทำสิ่งที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (E)และสังคม (S)

“ถ้าเป็นคนที่คดโกง ทุจริตคอรัปชั่น ก็คบไม่ได้ เพราะขาด Trust คือ ความเชื่อใจ"


ส่วน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจการที่มีแนวปฏิบัติ ESG จะสะสมผลดีต่อแบรนด์องค์กร หรือ Corporate Brand
เป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงและเติบโตต่อไปของธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ควรทำเฉพาะการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ แต่ต้องสร้างแบรนด์องค์กรด้วย

“แบรนด์องค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก เปรียบเสมือน”นามสกุล” ของกิจการ ถ้ามีชื่อและนามสกุลที่ดี ก็สร้างความน่าเชื่อถือและจดจำที่ดี ส่งผลให้แบรนด์องค์กรดีมีผลดีไปสู่ลูกสู่หลาน เมื่อจะขยายธุรกิจไปในอนาคต สินค้าและบริการก็จะได้ รับความเชื่อถือนิยมและผู้คนพร้อมสนับสนุน

ดังนั้นเครื่องมือที่จะทำให้นามสกุลดี ก็คือESG เป็นพื้นฐานของแนวทางในการบริหารกิจการ ซึ่งควรทำให้ดีทั้ง 3 ด้าน ให้สอดคล้องกัน และไม่ใช่แค่ดีแบบมาตรฐานทั่วไป แต่ต้องดีอย่างโดดเด่นและโดนใจ จึงต้องเป็น ESG Plus ที่ลงลึก และมีความแตกต่าง

ดร.เอกก์ได้ยกตัวอย่างบทบาทเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่ง บริษัทไปรษณีย์ไทย และบริษัทเอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง ร่วมกันทำโครงการ”re BOX”

ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งตามบ้านจะมีกล่องที่ใช้ขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์
ขณะที่ช่วงนั้นเตียงคนไข้ที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอที่จะรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จึงเกิดแนวคิดที่จะรับบริจาคกล่องกระดาษที่ใช้แล้ว ผ่านไปรษณีย์ไทย เพื่อส่งต่อให้ SCGP นำไปหลอมและแปรรูปเป็นเตียงคนไข้ ส่งให้โรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ เมื่อใช้งานเสร็จทีมงานไปรษณีย์ไทยก็ไปรับเตียงกระดาษ นำกลับมาส่งให้SCGPทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดขยะในชุมชน

นับว่าเป็นระบบจัดการช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ก็อยู่ในแนวปฏิบัติ ESG ในการสนับสนุนระบบรักษาผู้ป่วย ด้วยหลักธรรมาภิบาล จึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างโดดเด่นและใช้งานได้จริง


อีกตัวอย่างที่ดีก็คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมของ โรงแรมศิวาเทล ซึ่งปกติจะมีขยะประมาณ 2แสน กิโลกรัมต่อปี แต่โรงแรมนี้ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องการลดขยะในโรงแรมให้เหลือ 1หมื่นกิโลกรัมต่อปี และผลความร่วมมือของพนักงานก็ปรากฏว่าปีที่แล้วทำได้ 8 พันกิโลกรัม

โรงแรมศิวาเทลจึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็น Green ส่งผลให้ลูกค้านิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึงขนาดยอมจ่ายแพงกว่าทั่วไปถึง 20% ก็เพื่อให้โลกของรุ่นเขาดีขึ้น

ยังมีตัวอย่างที่ดีมากมายในระดับโลก ระดับชาติ และแม้แต่องค์กรขนาดเล็กก็สามารถสร้างแบรนด์ให้ดีและ ขยายตัวได้ แม้แต่เป็นครอบครัวธุรกิจเล็ก ก็ทำนามสกุลของตัวเองได้ดี เป็นที่ชื่นชมได้

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น