xs
xsm
sm
md
lg

กทม.กับ ตจว. “สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการ” /ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดิฉันขอชวนผู้อ่านทุกท่านสำรวจ “สภาพความเป็นจริง” ของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ปัจจุบัน นับเป็นปัญหาภัยคุกคามทั้งชีวิตและสุขภาพของประชาชนแทบจะในทุกพื้นที่

ทำให้ประชาชนทั่วไทยเกิดความกังวลต่อการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การขับรถ เกิดอาการหายใจติดขัด และมีอากาศคัดจมูกตลอดทั้งวัน แต่กลับพบว่า กระแสข่าวส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับฝุ่นที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงเพียงเท่านั้น ? ขณะที่ จังหวัดใหญ่อื่น ๆ ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน

ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาระดับชาติของประเทศไทย โดยจังหวัดต่าง ๆ กว่า 24 จังหวัดกำลังเผชิญกับค่าฝุ่นที่สูงเกินระดับมาตรฐานที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปรับปรุงใหม่ คือ ค่าเฉลี่ย 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายใน 24 ชั่วโมง จังหวัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของมลพิษในระดับที่แตกต่างกัน และมักเกิดขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น แหล่งที่มาของมลพิษ ภูมิประเทศ สภาพอากาศ และความหนาแน่นของจำนวนประชากร ประกอบการเมืองในหลายระดับ การรับมือจึงอาจไม่ใช่การใช้นโยบายเดียวทั่วประเทศ แบบ one size fits all แต่ภาครัฐจะต้องตอบสนองต่อการแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย

ยกตัวอย่างเช่น ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มักปรากฎอย่างเด่นชัดในช่วงฤดูแล้งและอากาศเย็น แหล่งที่มาของฝุ่นมักมาจาก 3 แหล่งหลัก ได้แก่ (1) ท่อไอเสียรถยนต์ (2) การก่อสร้าง และ (3) การเผาไหม้ของเสียจากการเกษตร ซึ่งปัญหาฝุ่นควันในเมืองหลวงเลวร้ายลงก็ต่อเมื่อกรุงเทพฯ เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งการจัดการของกรุงเทพฯ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองหลวงนั้น ย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีทรัพยากรและเงินทุนในการดำเนินมาตรการส่งผลให้มีอำนาจในการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากกว่า

ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มักจะประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 สูง ในช่วงฤดูแล้งและอากาศเย็น มีสาเหตุที่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลทางการเกษตร เช่น การเผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไฟป่า และการเผาขยะ รวมทั้งการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และปัจจัยอันเนื่องมาจากสภาพอากาศอย่างลมมรสุมฤดูหนาวในเอเชียมีอิทธิพลและสามารถพัดพาสารพิษทางอากาศมายังภาคเหนือ และ #จังหวัดในภาคใต้ เช่น จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากแหล่งที่มาที่ต่างกัน โดยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของฝุ่น PM2.5 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ได้เก็บรวบรวมในฤดูแล้ง มีแหล่งที่มาจากกิจกรรมภายในภูมิภาคเอง เช่น การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ในฤดูฝนมีแหล่งที่มาจากอิทธิพลของฝุ่นควันข้ามพรมแดนที่พัดมาจากไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อเป็นภาคเหนือและภาคใต้ การจัดการจะเป็นในลักษณะการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการจัดการขึ้นตรงต่อรัฐบาล และต้องรอรับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง จึงทำให้มีทรัพยากรและความสามารถในการจัดการกับมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ทำให้จังหวัดต่าง ๆ จึงมีข้อจำกัดในการจัดการกับ PM2.5 มากกว่าในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสิ่งที่ส่วนภูมิภาคทำได้ คือ การบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อลดการเผากลางแจ้ง เพิ่มการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษ

จากสภาพจริงสะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุ แหล่งที่มา ภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และประชากรเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างและความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้การจัดการกับฝุ่นควันนั้นแตกต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการเมืองนั้น ย่อมมีผลต่อแนวนโยบายและเครื่องมือที่ใช้เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และแสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของรูปแบบการเมืองย่อมส่งผลต่อการใช้อำนาจและการรับรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณชนด้วย

เช่นนั้นแล้ว การจัดการปัญหาดังกล่าว จำเป็นจะต้องอาศัยการประสานงานกันให้มากขึ้น ภายใต้เจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหามลพิษในระยะยาวและยั่งยืน

บทความโดย ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา SDG
Move TH

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://www.sdgmove.com/2023/03/10/sdg-updates-pm2-5-bkk-nothern-southern/


กำลังโหลดความคิดเห็น