นักวิทยาศาสตร์ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน เผยผลสำรวจที่น่าตกใจต่อระบบนิเวศของนกทะเลในอนาคต เมื่อพบว่านกทะเลป่วยด้วยโรคใหม่ ชื่อว่า “พลาสติโคซิส” (Plasticosis) ซึ่งมีต้นตอจากขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งลงทะเล
ทุกวันนี้ขยะพลาสติกจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ นอกจากส่งผลให้เกิดมลพิษที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ ยังเป็นภัยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำอีกด้วย
ขยะพลาสติกในทะเล รวมถึงแหล่งน้ำอื่นๆ ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าหลายประเทศยกเป็นเรื่องเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมีความพยายามในการรณรงค์แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทว่าช่วงที่ผ่านมาก็ยังแก้ไขให้ลุล่วงถึงขั้นปลอดภัยไม่ได้
Clip Cr.ABC News (Australia)
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ได้มีการค้นพบโรคใหม่ที่เรียกว่า “พลาสติโคซิส” (Plasticosis) ในประชากรนกทะเล
"พลาสติโคซิส" คือโรคที่นกทะเลเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารจากการกินพลาสติกเข้าไป และทิ้งแผลเป็นหรือรอยพังผืดเอาไว้ นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกการเกิดพังผืดในนกทะเลที่เกิดจากพลาสติก
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มลพิษพลาสติกที่แพร่หลายได้ทำให้นกอายุต่าง ๆ ตั้งแต่ลูกนกไปจนถึงนกโตเต็มวัย ต่างมีแผลเป็นในระบบทางเดินอาหาร แต่ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือในกลุ่มประชากรลูกนก ซึ่งได้รับพลาสติกจากพ่อแม่ที่หาอาหารมาให้แล้วมีพลาสติกปะปนมาด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดย ดร.อเล็กซ์ บอนด์ และดร. เจนนิเฟอร์ เลเวอร์ส จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ ได้ศึกษาประชากรนกทะเล Flesh-footed shearwater บนเกาะลอร์ดฮาวในออสเตรเลีย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างระดับของพลาสติกที่กินเข้าไปกับกระเพาะแท้ (Proventriculus) ของนก ซึ่งเป็นส่วนแรกของกระเพาะอาหารของนก
พวกเขาพบว่า ยิ่งนกกินพลาสติกเข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแผลเป็นมากขึ้นเท่านั้น โรคนี้สามารถนำไปสู่การสลายตัวของต่อมท่อในกระเพาะแท้อย่างช้า ๆ การสูญเสียต่อมเหล่านี้อาจทำให้นกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและปรสิตมากขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารและการดูดซึมวิตามินบางชนิด
เมื่อนกกินพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เข้าไป พวกเขาพบว่ามันทำให้ระบบทางเดินอาหารของนกอักเสบ เมื่อเวลาผ่านไป การอักเสบอย่างต่อเนื่องทำให้เนื้อเยื่อกลายเป็นแผลเป็นและทำให้เกิดพังผืด ส่งผลต่อการย่อยอาหาร การเจริญเติบโต และการอยู่รอด
ทั้งนี้ วัสดุธรรมชาติอื่นที่นกอาจเผลอกินเข้าไป เช่น หินภูเขาไฟหรือหินพัมมิซ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสรุปว่า นี่เป็นโรคที่เกิดจากวัสดุพลาสติกโดยเฉพาะ
บอนด์ กล่าวว่า “แม้ว่านกเหล่านี้ภายนอกจะดูแข็งแรงดี แต่ข้างในกลับไม่ค่อยดีนัก การศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และแสดงให้เห็นว่า การบริโภคพลาสติกสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบย่อยอาหารของนกเหล่านี้”
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะศึกษานกเพียงชนิดเดียวในพื้นที่ส่วนเดียวของโลก แต่พวกเขาเชื่อว่า มีแนวโน้มว่าจะมีนกอีกหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบจากโรคพลาสติโคซิส อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่าพลาสติโคซิสแพร่กระจายไปมากเพียงใด
“การที่สัตว์ป่าในธรรมชาติจะสัมผัสพลาสติกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมนุษย์มีการทิ้งพลาสติกเพิ่มมากขึ้น และมลพิษจากพลาสติกกำลังแพร่กระจายไปในทุกสภาพแวดล้อมทั่วโลก”
อ้างอิง
ABC News https://www.abc.net.au/news/2023-03-06/plasticosis-disease-lorde-howe-island-seabirds-researchers/102058266
The Guardian https://www.theguardian.com/environment/2023/mar/03/plasticosis-new-disease-caused-by-plastics-discovered-in-seabirds