เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการอาวุโส โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง กองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) ได้รับรางวัล Rimington Award 2022 ภายใต้หัวข้อ "Women in Tiger Science"
รางวัลอันทรงเกียรตินี้มอบให้แก่บุคคลที่มีส่วนสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดย ดร. รุ้งนภา ทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทยมากว่า 20 ปี และเป็นผู้นำโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ดำเนินงานมายาวนานที่สุดโครงการหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังทำงานในพื้นที่คุ้มครองที่เชื่อมต่อถึงกันสี่แห่ง
ภารกิจเพิ่มประชากรเสือของโลก และประเทศไทย
ดร. รุ้งนภา พูลจำปา กล่าวว่า "เสือโคร่งเป็นสัตว์สายพันธุ์พิเศษที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกที่กำลังดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ แนวโน้มประชากรเสือค่อนข้างเป็นบวกในปี 2565 โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีเสือโคร่งอินโดจีนอาศัยอยู่
ดิฉันเชื่อว่า เรามีความหวังในการช่วยชีวิตสายพันธุ์ที่มีเสน่ห์นี้ในประเทศไทย การอนุรักษ์เสือโคร่งเป็นงานที่ท้าทาย ซับซ้อน และไม่มีวันสิ้นสุด อีกทั้งยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกคนในการสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่งในระยะยาว การอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศและยังมีหนทางอีกยาวไกล ด้วยพลังแห่งสตรีเพศ คุณอาจอุทิศเวลาและความพยายามเพื่อช่วยให้การอนุรักษ์สัตว์ป่าบรรลุเป้าหมายสูงสุด และที่สำคัญ อย่าลืมบอกกับตัวเองว่าคุณทำได้!!”
เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหาร มีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์กินพืช ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ดังนั้นจะเห็นว่าเสือโคร่งต้องการถิ่นอาศัยที่อุดมสมบูรณ์มาก คือต้องมีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยที่เหยื่ออาหารของเสือโคร่ง มักเป็นสัตว์ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า วัวแดง และกระทิง ดังกล่าวป่าบริเวณใดที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ย่อมชี้ชัดได้ว่า ผืนป่าแห่งนั้นยังสมบูรณ์มาก นี่เป็นเหตุผลที่มักบอกว่า เสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า และเป็นคำตอบว่า ทำไมการอนุรักษ์เสือโคร่งถึงสำคัญมาก
ดร.รุ้งนภา บอกอีกว่านอกจากประเทศไทย ได้รับการยกฐานะให้เป็น “บ้านของเสือโคร่ง” เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ รัสเซีย อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว ทว่าบางประเทศเหล่านี้ อย่างลาวและเวียดนาม แทบหมดหวังในการฟื้นฟูและเพิ่มประชากรเสือโคร่ง เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมานานมาก ขณะที่ อินเดียและเนปาล ถือเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เพราะที่นี่แทบจะยุติการฆ่า-การล่าเสือโคร่งได้เกือบ 100% อันมีสาเหตุจากกฎหมายที่เข้มแข็ง และมีการใช้กำลังทหารเข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย
ส่วนประเทศไทยของเรา มีข้อมูลที่น่าสนใจ และนั่นถือเป็นภารกิจของเรา คือ “พื้นที่แม่วงก์-คลองลาน” พบร่องรอยการปรากฏตัวของเสือโคร่งบ่อยครั้งขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าแห่งนี้มีความสำคัญต่อเนื่องจาก “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งนเรศวรและห้วยขาแข้ง” ซึ่งทั้งสองส่วนเรียกรวมๆ กันว่า “ผืนป่าตะวันตก” ปัจจุบันถือว่ามีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด