xs
xsm
sm
md
lg

UN GCNT- United Nations Thailand ร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจ ยกระดับการเงินที่ยั่งยืน เร่งความก้าวหน้า SDGs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย(UN Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประไทย
(United Nations Thailand) จัดงาน CEO Forum on Sustainable Finance: Scaling Up Sustainable Finance Solutions for Accelerating Progress on the SDGs หรืองานประชุมผู้นำธุรกิจ ว่าด้วยการยกระดับการเงินที่ยั่งยืน เพื่อเร่งความก้าวหน้า SDGs ที่รวมซีอีโอ ผู้นำสหประชาชาติ สถาบันการเงิน นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลจากประเทศไทยร่วมมือยกระดับการเงินที่ยั่งยืน ชี้กลยุทธ์ทางการเงินและการตัดสินใจลงทุน เป็นปัจจัยเร่งความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านผู้นำ UNGC ประกาศเชื่อมั่นศักยภาพภาคธุรกิจในเอเชีย เล็งตั้ง UNGC Hub ระดับภูมิภาคที่กรุงเทพฯ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Suphachai Chearavanont Chairman of UN Global Compact Network Thailand)
นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Suphachai Chearavanont Chairman of UN Global Compact Network Thailand) กล่าวว่า UN GCNT รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน CEO Forum ว่าด้วยการเงินที่ยั่งยืน เพราะภาคการเงินและนักลงทุนกำลังให้ความสนใจการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น โดยกำลังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทรัพยากรธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะทุนทางธรรมชาติของเรา เป็นรากฐานของเศรษฐกิจโลกประมาณครึ่งหนึ่ง หากไม่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพเพียงพอ การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลกจะเป็นเรื่องยาก 

โดยได้เสนอ 5 กลยุทธ์ที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ คือการสร้างความตระหนักด้วยการกำหนดเป้าหมายและสื่อสารให้ชัดเจน การใช้กลไกตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และมีส่วนร่วมกับพนักงาน รวมทั้งพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า การมีผู้นำที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนองค์กร การเสริมพลังให้คนรุ่นใหม่รับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน และการมีวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม

“ผมเชื่อว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบและมีพลังที่จะลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ทั้งการลดการปล่อยมลพิษ การปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายศุภชัย กล่าว

นางซานด้า โอเจียมโบ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (Sanda Ojiambo – Assistant Secretary-General and CEO of UN Global Compact)
นางซานด้า โอเจียมโบ ผู้ช่วยเลขาธิการ ซีอีโอ และผู้อำนวยการบริหาร ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (Sanda Ojiambo – Assistant Secretary-General and CEO of UN Global Compact) เปิดเผยว่า ไม่ว่าโลกจะมีความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหารและพลังงาน รวมทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกำลังกัดกร่อนความสำเร็จในการพัฒนาในทศวรรษที่ผ่านมา ความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หยุดลง และในบางกรณีถึงขั้นกลับตาลปัตร

มนุษยชาติอยู่ในรหัสสีแดงและไม่มีเวลาให้เสียเปล่าอย่างแท้จริง แน่นอนว่า ภาคธุรกิจยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องร่วมกันยกระดับการเงินที่ยั่งยืนให้เป็นหนึ่งในกลไกเร่งความก้าวหน้าของ SDGs แม้จะมีสถานการณ์เช่นนี้

เราเชื่อว่ามีเงินทุนมากมายในโลกที่จะจัดสรรได้ถึง 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อการบรรลุเป้าหมายระดับโลก โดยภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน ด้วยประชากรมากกว่า 60% ของโลกและมากกว่า 2 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้ เห็นได้ชัดถึงศักยภาพในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงและทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ UN Global Compact ที่มุ่งขยายพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างการเติบโตของภูมิภาค โดยเตรียมเปิดตัวศูนย์กลางของยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก สำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (UN Global Compact Asia & Oceania Reginal Hub) ที่กรุงเทพฯ เร็วๆ นี้

“เราทราบดีว่าธุรกิจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้โดยลำพัง ศูนย์กลางระดับภูมิภาคแห่งใหม่ของเราในกรุงเทพฯ จะช่วยสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสหประชาชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค” นางซานด้า กล่าว

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Gita Sabharwal – United Nations Resident Coordinator in Thailand)
ด้านนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Gita Sabharwal – United Nations Resident Coordinator in Thailand) กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวในระดับประเทศและภูมิภาค

สิ่งที่จะทำให้สามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ก็คือการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเพิ่มการหมุนเวียน (Circularity) และลดรอยเท้าคาร์บอนทั่วทั้งกระดาน ซึ่งสหประชาชาติกำลังช่วยเหลือความพยายามเหล่านี้ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจัดประชุมให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อน

“ขณะนี้ เราอยู่กึ่งกลางของเส้นทางสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 และภาคธุรกิจจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเร่งความสำเร็จของ SDGs ในประเทศไทย สิ่งสำคัญ คือ นักการเงินการธนาคาร นักลงทุน และผู้จัดการสินทรัพย์ จำเป็นต้องแสดงความเป็นผู้นำ ด้วยการปลดล็อกการจัดหาเงินทุนภายในประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางกีต้า กล่าว

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Ruenvadee Suwanmongkol, Secretary-General of the Securities and Exchange Commission)
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Ruenvadee Suwanmongkol, Secretary-General of the Securities and Exchange Commission) กล่าวว่า ในขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วนั้น

ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการและประเมินค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ มีการจัดสรรเงินทุนไปสู่โครงการที่เป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนดังกล่าวต่อสาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้มีจำนวนบทวิเคราะห์ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การมี Taxonomy ในระดับประเทศและภูมิภาคจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบนิเวศทางการเงิน

นอกจากนี้ ความร่วมมือของหน่วยงานภาคการเงินและตลาดทุน
จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy) อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการสีเขียวและการบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป

งาน CEO Forum ครั้งนี้ ยังมีการเสวนาโต๊ะกลม (CEO Roundtable)
โดยมีซีอีโอจากองค์กรสมาชิก UN GCNT มากกว่า 20 องค์กรร่วมพูดคุยถึงโอกาสและความท้าทายในการยกระดับกลยุทธ์ด้านการเงินและ
การลงทุนเพื่อความยั่งยืน อาทิ กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอสเอชบีซี

โดยผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้ ความยั่งยืนคือใบอนุญาตที่แต่ละธุรกิจจะต้องบริหารจัดการ นอกเหนือจากดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator) องค์กรต้องให้ความสำคัญกับดัชนีชี้วัดเป้าหมายความยั่งยืน (Key Impact Performance) โดยการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องเกิดขึ้นทั่วองค์กร และขยายขอบเขตไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการ Scope 3 ดังนั้น
การส่งเสริมเรื่องการเงินที่ยั่งยืน จึงต้องครอบคลุมถึง suppliers ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติตามแนวทางของความยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และ SMEs เอง เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในประเด็นของจริยธรรมและการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคการเงิน ธนาคาร และนักลงทุน ก็สนใจที่จะลงทุนในโครงการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนมากขึ้น โดยหากภาคการเงินสามารถทำงานคู่ไปกับภาคธุรกิจ จะสามารถระดมเงินทุนจำนวนมากได้ ดังเช่น
ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรสถาบันการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Just Energy) หรือความร่วมมือเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่จัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า Climate Asset Management ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มุ่งเน้นการลงทุนในธรรมชาติ (Natural Capital) และโครงการคาร์บอนต่ำ CEO Forum ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็น 90% ของธุรกิจและมากกว่า 50% ของการจ้างงานทั่วโลก เป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวางที่ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาค

รวมถึงในประเทศไทย ในช่วง SME Roundtable มีตัวแทนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ร่วมแลกเปลี่ยน โดยผู้นำ SMEs ได้ตอกย้ำถึงบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน แต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนที่ไม่ได้มีมากเท่ากับภาคธุรกิจใหญ่ จึงมีความยากในการปรับเปลี่ยน และเห็นว่าควรสนับสนุนให้ SMEs วางแผนระยะยาว เพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าหาผลกำไรระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม SMEs ก็ยังต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น และเห็นว่าหากสามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินที่มากขึ้น จะกระตุ้นให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความรู้ และเครื่องมือที่ดีขึ้น เพื่อปรับปรับผลผลิตให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น