xs
xsm
sm
md
lg

ทนไม่ไหว! หลังลูกช้างป่าสู้กับอาการบาดเจ็บทั้งตัวกว่าครึ่งเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเช้านี้ (21ธ.ค.2565) ทีมสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก แจ้งว่า “น้องธันวา” ลูกช้างป่าเพศเมีย ที่พลัดหลงและเข้ามารักษาอาการบาดเจ็บหนักแทบทั้งตัว ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 08.24 น.

หลังจากที่น้องธันวาเข้ามารักษาตัวที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยก่อนหน้า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ดูเหมือนว่าอาการบาดเจ็บ และการตอบสนองของน้องดีขึ้นเมื่อพบมีเรี่ยวแรงมากขึ้น แต่เมื่อคืนนี้น้องสู้เต็มที่แล้ว

ลำดับเหตุการณ์ก่อน "ธันวา"ลูกช้างป่าล้ม หลังทีมสัตวแพทย์ช่วยอย่างสุดกำลัง แต่ร่างกายบาดเจ็บหนัก และน้องสู้มาตลอดจนถึงวันนี้...วันที่ 21 ธันวาคม 2565

1. เวลา 00.00 น. ลูกช้างป่าธันวามีภาวะท้องเสีย มีอาการอ่อนแรงมาก ไม่ยอมใช้ขายันพื้นเพื่อยืน แต่ยังคงกินอาหารได้
2. เวลา 03.00 น. มีอาการอ่อนแรงต่อเนื่อง ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษา ประคับประคองอาการ โดยการให้สารน้ำ เสริมเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียแร่ธาตุ ให้ออกซิเจน และพยายามควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้เกิดความอบอุ่นเนื่องจากอากาศค่อนข้างเย็น (17-18 องศาเซลเซียส)
3. เวลา 04.00 น. เริ่มอ่อนแรงมากขึ้น ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นและหายใจลำบาก ทีมสัตวแพทย์ทำการรักษาต่อเนื่อง
4. เวลา 08.00 น. ช้างป่าธันวาไม่ตอบสนองต่อการรักษา ทีมสัตวแพทย์ทำการกู้ชีพแต่ไม่มีการตอบสนองของสัญญาณชีพ และได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อเวลา 08.24 น.

ผลชันสูตร..พบอวัยวะภายในล้มเหลว
1 บาดแผลภายนอก ช้างมีแผลหลุมขนาดใหญ่และเนื้อตายบริเวณเหนือเบ้าตาขวา แก้ม ใบหู หัวไหล่ ข้อศอก สะโพก ทั้ง 2 ข้าง ขาและข้อเท้าทั้ง 4 ข้าง บริเวณสะดืออักเสบบวมมีแผลหลุม
2 อวัยวะภายในพบความผิดปกติดังนี้
- พบแผลหลุม จุดเลือดออกและเยื่อบุผิวลอกหลุดภายในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก caecum และลำไส้ใหญ่ ตลอดทั้งแนว
- ตับ พบมีขนาดใหญ่และบวมน้ำ ขอบตับกลมมน
- ม้ามภายนอกค่อนข้างซีด จากการเปิดผ่าเนื้อม้ามด้านในพบว่าสีปกติ
- ไตทั้ง 2 ข้างมีขนาดปกติ พบจุดเลือดออก โดยไตขวาพบว่ามีจุดเลือดออกขนาดใหญ่กว่าข้างซ้าย
- กระเพาะปัสสาวะมีปัสสาวะค้างอยู่ภายใน มีเส้นเลือดขนาดใหญ่มาเลี้ยง
- ฝาปิดกล่องเสียงมีลักษณะขรุขระผิดปกติ
- พบมีน้ำคั่งในช่องอก
- ปอดลักษณะสีภายนอกปกติ ผ่าด้านในพบว่าเนื้อปอดบางส่วนมีลักษณะเป็นเนื้อตาย มีหนองในปอดปริมาณมากทั้ง 2 ข้าง
ซึ่งรอยโรคดังกล่าวข้างต้นยืนยันได้ว่าอวัยวะภายในของลูกช้างป่านั้นล้มเหลว ไม่สามารถหายใจ ย่อยอาหาร และอวัยวะภายในไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างอวัยวะภายในเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตายโดยละเอียดต่อไป

ผู้รายงาน : สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง)
สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า

อ้างอิง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สวนสัตว์บึงฉวาก สุพรรณบุรี



ตั่งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ 30 พฤศจิกายน - 21 ธันวาคม 2565 "น้องธันวา"

#ส่งธันวากลับดาวช้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น