xs
xsm
sm
md
lg

ลูกช้างป่าพลัดหลง "ธันวา" ใจสู้ อาการดีวันดีคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความคืบหน้าอาการของ “น้องธันวา” ลูกช้างป่าเพศเมีย ที่พลัดหลง หลังเดินทางมาถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด (19 ธ.ค.65) อาการบาดเจ็บดีวันดีคืน กินอาหารได้ และน้ำหนักตัวเพิ่ม แม้การเดินยังต้องช่วยพยุง แต่มีเรี่ยวแรงเพิ่มและเดินไกลขึ้น ซึ่งก่อนหน้าก็ตรวจไม่พบเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส






นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ธันวา มีการผายลมเป็นระยะ กระตุ้นถ่ายพบว่าออกมาเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเนื้อครีมที่แข็งขึ้น (รอขับถ่ายเองวันนี้ 19 ธ.ค. 65 แล้วสังเกตอุจจาระเพิ่มเติม) ปัสสาวะปกติ

ในการรักษาอาการ เน้นการป้อนน้ำ และเกลือแร่ให้ถี่ขึ้น ไม่สามารถให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหูได้ เนื่องจากได้ทำการให้สารน้ำทุกวันผ่านทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู ส่งผลให้เส้นเลือดเสียหาย ต้องรอการหายดีของเส้นเลือด ประมาณ 3-5 วัน สำหรับอาหารให้กินน้ำต้มข้าว เนื้อข้าวต้มเปื่อย ทุก 3 ชั่วโมง ( น้ำข้าวต้ม 500 มิลลิลิตร และ เนื้อข้าวต้ม 16 ช้อน ต่อ 1 มื้อ) และทำการให้ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน ให้กินน้ำผึ้งและให้ยาลดกรด เอนไซน์ช่วยย่อยอาหาร และยาขับลมแบบกิน

ส่วนการเดินยังคงต้องใช้การพยุงตัวช่วยในการลุก นั่ง ยืน เดิน มีเรี่ยวแรงและกำลังมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น (มีการพยุงตัวช่วย) ทำการชั่งน้ำหนัก พบว่า ลูกช้างป่าธันวามีน้ำหนัก 87.7 กิโลกรัม

ก่อนหน้านี้ (13 ธ.ค.) ผลการตรวจเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างชนิด EEHV ไม่พบเชื้อ (ห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) โดยมี สพ.ญ.ลาดทองแท้ มีพันธุ์ สัตวแพทย์จากมูลนิธิพระคชบาล เข้าร่วมประเมินอาการและร่วมวางแนวทางการรักษาเพิ่มเติมกับทีมสัตวแพทย์

ทีมสัตวแพทย์สรุปว่า ลูกช้างป่า (ธันวา) มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ในเรื่องของการดูดซึมของนมที่ให้ การเจริญเติบโตของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ทีมสัตวแพทย์ จึงปรับสูตรการให้นมใหม่ โดยให้น้ำต้มข้าวเพิ่มเติมทดแทน และตัดมื้อนมให้ลดลง เพื่อลดการถ่ายเหลว ซึ่งทำให้สัตว์สูญเสียอิเล็กโทรไลต์ มีผลอย่างมากต่อร่างกาย

ทั้งนี้แนวทางการรักษาของทีมสัตวแพทย์ ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการปรึกษาถึงอาการและแนวทางการดูแลรักษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล/รักษา จากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง (หน่วยงานภายนอกและภาคเอกชน) ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ มูลนิธิพระคชบาล โรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา และทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง
สวนสัตว์บึงฉวาก สุพรรณบุรี
ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


กำลังโหลดความคิดเห็น