xs
xsm
sm
md
lg

คุณหญิงกัลยา ชื่นชมอุโมงค์น้ำชิคาโก “โมเดลแก้ปัญหาน้ำท่วมและกำจัดน้ำเสีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะฯ ได้เดินทางมาดูโครงการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำและอุทกภัยของนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (เมื่อ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา)

หรือในชื่อเรียก "TARP" (Chicago’s Tunnel And Reservoir Plan) หรือ "Deep Tunnel" ซึ่งเป็นระบบอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ปรับปรุงคุณภาพน้ำในเส้นทางน้ำของชิคาโก และปกป้องทะเลสาบมิชิแกนจากมลพิษที่เกิดจากท่อระบายน้ำล้น โดยความสำเร็จของTARP ช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติปีละกว่า 350 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ และช่วยให้ชาวเมืองชิคาโกและเมืองใกล้เคียงหลายล้านคนและธุรกิจปลอดภัยจากน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นโมเดลตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำเรื่องน้ำท่วมและการจัดการน้ำเสียที่ดีที่สุดของประเทศ และแห่งหนึ่งของโลก


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องน้ำฝน แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่ต้องเติมให้กับคนก็คือองค์ความรู้ ซึ่งการได้มาดูงานในครั้งนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกัน และประสบกับปัญหาน้ำท่วมจำนวนมากทำให้ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันเช่น กรุงเทพมหานคร

“ระบบอุโมงค์น้ำมีสิ่งที่เหมือนแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ การใช้ธรรมชาติมาช่วยธรรมชาติ เช่น เรื่องการใช้หลักแรงโน้มถ่วง การใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำเสีย"

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการมาดูงานครั้งนี้ว่าได้รับการสนับสนุนจาก วุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ รวมทั้ง Commissioner Eira L. The Metropolitan Water Reclamation District of Greater Chicago (MWRD) และคณะฯ สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น และมาบรรยายให้ความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก นอกจาก Commissioner Eira จะชื่นชม ดร.คุณหญิงกัลยา ที่ทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำจนเกิดผลลัพธ์ในวิทยาลัยเกษตรฯ และขยายผลไปยังชุมชนแล้ว สิ่งที่ Commissioner Eira พูดไว้ตอนหนึ่งดีมาก คือพูดว่า "เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และทำงานร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่ไปสู้กับธรรมชาติ" เพราะถ้าเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ก็จะหาแนวทางที่จะลดผลกระทบที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เช่นเดียวกัน




หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ( ดร.คุณหญิงกัลยา และคณะฯ ได้เดินทางไป American Water Works Association (AWWA) โดยได้รับการต้อนรับจาก Annie Storey, CAE Executive Director และคณะกรรมการ AWWA สำหรับ AWWA เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรสากล ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดหาน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 ซึ่งมีสมาชิกจากทั่วโลกประมาณ 50,000 คน โดยสิ่งที่น่าสนใจในการดูงานที่ AWWA คือที่นี่ เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ เริ่มตั้งแต่เยาวชน ซึ่งตรงกับหลักคิดของดร.คุณหญิงกัลยาที่ว่าการที่จะให้ความรู้ และให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ต้องเริ่มจากเยาวชนก่อน ซึ่ง AWWA ทำกิจกรรม มีหลักสูตร ทำเป็นศูนย์ความรู้ในเรื่องน้ำเพื่อให้ความรู้กับทุกคนเลย ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของคุณหญิงกัลยาที่ได้เอาองค์ความรู้เรื่องของน้ำไปสอดแทรกในสถานศึกษา ปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการทำให้เกิดหลักสูตรชลกรซึ่งถือเป็นซอฟ์ทแวร์ที่สำคัญในการสร้างคน และเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพในอนาคต ช่วยทำให้มีรายได้จากอาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและในองค์กรเกี่ยวกับน้ำที่เป็นสากลได้ด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น