ในที่สุด ลูกช้างป่าพลัดหลงที่ห้วยขาแข้ง “พังทับเสลา” ได้ผ่านบททดสอบการใช้ชีวิตกับแม่รับ (แม่วาเลนไทน์) ริมขอบป่า ก่อนดีเดย์ปล่อยกลับคืนสู่ป่าลึกจริงๆ เมื่อวันก่อน (30 พฤศจิกายน 2565) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ด้วยวัยเกือบ 3 ขวบ พร้อมกับแม่รับอีกตัวที่ตามเข้ามาสมทบ (แม่ดอกรัก)
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงกิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด ในฐานะคณะทำงานกำกับ ดูแล และช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง (ทับเสลา) ร่วมกับ นายสักรินทร์ ปัญญาใจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง) เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เจ้าหน้าที่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย คณาจารย์ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายรักช้าง รักษ์ป่า ดอยผาเมือง ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจปล่อยลูกช้างป่า (ทับเสลา) พร้อมแม่รับ (พังวาเลนไทน์) คืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง
หลายคนคงจดจำกันได้ เมื่อปี 2563 "ทับเสลา" ลูกช้างป่าจอมดรามา ไม่ยอมกลับคืนโขลงแม่ในป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งต่อมาได้รับการเคลื่อนย้ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อมาดูแล ฝึก และปรับพฤติกรรมให้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ โดยมีแม่รับ (แม่เลี้ยง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ "ทับเสลา" ได้พลัดหลงจากโขลงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบกับลูกช้างป่า (อายุประมาณ 2-3 เดือน) พลัดหลงแม่ เดินเข้ามาในหมู่บ้านไผ่งาม ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ชาวบ้านแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ โดยได้นำมาอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนกระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 จึงเคลื่อนย้ายมาดูแลและปรับพฤติกรรมเพื่อจะได้นำไปปล่อยคืนสู่ป่าตามธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง
"ทับเสลา" มีช้างแม่รับ คือ "พังวาเลนไทน์" เป็นช้างจากมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มาคอยดูแล และสอนลูกช้างป่าเรียนรู้และซึมชับพฤติกรรมการดำรงชีวิตตามธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่งลูกช้างป่าก็สามารถเลียนแบบพฤติกรรมช้างแม่รับในการดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติได้ดี จึงได้มีการปล่อยช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือสัตว์ป่าอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามคณะทำงานฯ ได้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวช้างป่า (GPS Collar) ให้แก่ช้างแม่รับ และกำหนดแผนติดตามการดำรงชีวิต การเคลื่อนที่ แต่ยังคงติดตาม ประเมินพฤติกรรม ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพป่าธรรมชาติอยู่เป็นระยะ
ที่มา : คณะทำงานกำกับ ดูแล และช่วยเหลือลูกช้างป่าพลัดหลง (ทับเสลา)
รักช้าง รักษ์ป่า ดอยผาเมือง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง