xs
xsm
sm
md
lg

TED Fund ต่อยอดงานวิจัยสู่ธุรกิจ มุ่งเป้าให้ทุน 200 โครงการ หนุนเศรษฐกิจ BCG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เร่งสปีดผลักดันงานวิจัยจาก SMEs และ Startup ให้เกิดเป็นธุรกิจ กางแผนปี 2566 เตรียมอัดงบฯ 220 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายสนับสนุนทุน 200 โครงการ เน้นไปที่กลุ่มธุรกิจ 10 New S Curve โดยเฉพาะที่สอดรับกับ BCG Economy Model ตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทย พร้อมคาดหวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท เผยผลสำเร็จ 3 ปีที่ผ่านมา สนับสนุน 470 โครงการ รวมมูลค่าทุนกว่า 328 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 1,930 ล้านบาท 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)
กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563-2565 การสนับสนุนทุนและองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของ TED Fund สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับ TED Fund มากกว่า 3,000 ไอเดีย และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับการสนับสนุนทุนผ่านโครงการต่างๆ มากถึง 470 โครงการ รวมมูลค่าการสนับสนุนกว่า 328 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยมากกว่า 1,930 ล้านบาท ทั้งนี้ การสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับการสนับสนุนทุนผ่านโครงการต่างๆ มากถึง 470 โครงการ รวมมูลค่าการสนับสนุนกว่า 328 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศไทยมากกว่า 1,930 ล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กระทรวง อว. โดย TED Fund ตั้งเป้าสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการจำนวน 230 โครงการ รวมมูลค่าทุนกว่า 220 ล้านบาท ผ่านโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) และโครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Market Scaling Up) คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากถึง 1,800 ล้านบาท โดยจะให้การสนับสนุนทุนครอบคลุมทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเน้น BCG Economy Model ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยออกมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย


ด้าน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้จัดเตรียมนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมหน้าใหม่ ผ่าน 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1. โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น ( TED Youth Startup) ให้การสนับสนุนทุนมูลค่าตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท โดยผู้สมัครต้องกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปริญญาตรี โท เอก หรือเป็นบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยจะต้องอยู่ภายใต้การบ่มเพาะของเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 52 หน่วยงานทั่วประเทศ และ 2. โครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Market Scaling Up) ให้การสนับสนุนทุนมูลค่าไม่เกิน 2,000,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่เคยได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยมียอดขายหรือมียอดการสั่งซื้อแล้ว และมีความต้องการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับข้อเสนอโครงการจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1,000 โครงการ

(จากซ้าย) ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการ TED Fund และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และประธานกรรมการบริหาร TED Fund
สำหรับโครงการที่ผ่านมา ธุรกิจ 3 กลุ่มแรกที่ขอรับทุนและได้ทุนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มเกษตร-อาหาร และกลุ่มการแพทย์ ตามลำดับ ยกตัวอย่าง โครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง โครงการแอปเรียกรถพยาบาล โครงการเกษตรนวัตกรรมอาหารสุขภาพทดแทนเนื้อสัตว์ และโครงการพัฒนาเครื่องช่วยเดิน เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลกและเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่มีการขอรับทุนและได้ทุนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มออโตเมชั่น เนื่องจากการใช้แนวทางนำงานวิจัยมาให้ทุน แต่งานวิจัยในกลุ่มนี้ที่พร้อมจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์มีไม่มาก และที่สำคัญคือเนื่องด้วยมีเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่ก้าวหน้ากว่ามาก และการซื้อมาใช้เร็วกว่า รวมทั้งมีราคาต่ำกว่าการทำวิจัยหรือพัฒนาเอง ดังนั้น สำหรับการให้ทุนสนับสนุนกลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม การสร้างโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มนี้ น่าจะมองหาโจทย์ความต้องการจากโรงงานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีงานวิจัยที่ดีเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมาการขอรับทุนวิจัยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็สามารถทำงานวิจัยและพัฒนาได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยให้ก้าวต่อไป TED Fund จึงกำหนดให้การจะขอรับทุนจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มทำธุรกิจจริง เพื่อนำงานวิจัยมาขยายผลให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ Ecosystem หรือกลไกในการพัฒนาผู้ประกอบการทำได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องการต่อยอดด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นอกจากโครงการ TED Market Scaling Up ซึ่งเป็นกลไกเพื่อต่อยอดด้านการตลาด TED Fund จึงจะสร้างกลไกพิเศษเพิ่มขึ้นในปี 2566 เช่น การสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงสตาร์ทอัพได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสองทาง หรือในด้านเงินลงทุน อาจจะเชิญชวนพันธมิตรของ Ted Fund มาร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง จึงเตรียมโครงการให้ทุนรูปแบบใหม่อีก 2 โครงการ

พิธีมอบทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ หรือ TED Fund Grant Day 2022 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565
สำหรับการเปิดรับสมัครโครงการของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ www.tedfund.mhesi.go.th หรือแอดไลน์กองทุนฯ ได้ที่ : @tedfund หรือโทร 02 333 3700 ต่อ 4072-4075