เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.2565) โลตัส ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน “Vision 2030. Actions every day.” กางแผนงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ในฐานะผู้นำ New SMART Retail ชู 5 ข้อสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกวันอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) โดยมุ่งสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ United Nations Sustainable Development Goals 2030
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า “พื้นฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำ New SMART Retail คือนโยบายและแผนงานด้านความยั่งยืน โดยโลตัสได้ดำเนินงานตามแนวทางด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด และด้วยสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โลตัส จึงได้ทบทวนและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สู่นโยบายที่เราประกาศในวันนี้ คือ Vision 2030. Actions every day. ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุก ๆ วัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030"
นโยบายด้านความยั่งยืนของโลตัส สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้ง 15 ข้อภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจากการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Assessment) ล่าสุด เราได้กำหนดประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) คือ การสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Well-being) การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience) และ การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible supply chain management) โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานที่ชัดเจนสำหรับแต่ละประเด็นสำคัญ เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030
“การเป็นผู้นำ New SMART Retail คือการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก ที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ธุรกิจใดก็ตามจะไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ หากไม่คำนึงถึงการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเติบโตไปได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน ก่อนประโยชน์ของธุรกิจเสมอ”นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและกฎหมาย โลตัส ขยายความประเด็นสำคัญ 5 ข้อที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ว่า
ด้านสังคม (Social)
ข้อแรก : การสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Well-being)
ในฐานะธุรกิจค้าปลีกแบบ omni-channel ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง ผ่านช่องทางทั้งในสาขาและออนไลน์ โลตัส มุ่งมั่นในการสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ทุกตะกร้าสินค้าของลูกค้าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี และเพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์ (vision) ดังกล่าว โลตัสได้วางแผนดำเนินการ (actions) ใน 4 ด้าน คือ 1. ผลิตภัณฑ์ (Products) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ของโลตัสที่ดีต่อสุขภาพ ปรับสูตรผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้น อาทิ ลดหวาน มัน เค็ม การมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น 2. ราคา (Prices & promotions) ทำให้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพมีราคาที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน 3. แพลทฟอร์ม (Platforms) ใช้ช่องทาง omni-channel ในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ทั้งการให้ความรู้และข้อมูล รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดี และ 4. ความร่วมมือ (Partnerships) กับทั้งคู่ค้าและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โลตัส ได้เป็นผู้นำในการเสนอสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ลูกค้า อาทิ เป็นค้าปลีกรายแรกที่ไม่ใช้ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่โลตัสผลิตทุกชนิด การริเริ่มโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร ทำให้มั่นใจในคุณภาพความปลอดภัยของอาหารสดที่จำหน่ายแก่ลูกค้า
ข้อสอง : การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution)
โลตัส ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 จะสามารถสร้างงานได้จำนวน 200,000 ตำแหน่ง และสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร โดยเป็นการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม อาทิ ขยายผลการจ้างงานเยาวชน และผู้สูงอายุ ที่ปฏิบัติงานในสาขา รวมทั้ง โลตัส ยังเป็นแพลทฟอร์มแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทย โดยใช้แพลทฟอร์มของโลตัส ทั้งในสาขา ศูนย์การค้า และออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทย
ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance)
ข้อสาม : การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible supply chain management)
ในฐานะธุรกิจค้าปลีก ห่วงโซ่อุปทานของ โลตัส ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป้าหมายของเราภายในปี ค.ศ. 2030 คือ สินค้าแบรนด์ของโลตัสที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ และ คู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 (critical tier 1 suppliers) รวมถึงผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ของโลตัสทุกรายได้รับการประเมินความเสี่ยงประเด็นด้านความยั่งยืนและการทวนสอบ 100% โดยครอบคลุมมิติที่หลากหลายตั้งแต่ คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า แรงงาน สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)
ข้อสี่ : การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience)
เป้าหมายของโลตัส คือ การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งได้มีการจัดทำแผนการดำเนินการ (actions) เพื่อมุ่งสู่ทั้งสองเป้าหมาย หลายรูปแบบ รวมถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในปี ค.ศ. 2021 โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจลง กว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2020 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาสาขาและศูนย์กระจายสินค้า โดยมีแผนงานติดตั้ง 1,042 สาขา มีกำลังผลิตรวม 135mw ภายในปี ค.ศ. 2024, การใช้รถไฟฟ้า (EV) ในการขนส่งสินค้า เป็นต้น นอกจากนั้น โลตัส จะเดินหน้าปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มเติมจากการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 20 ล้านต้น ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา และจะยังผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานต่อไป
ข้อห้า : ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)
เป้าหมายของโลตัส คือ ลดปริมาณของเสียในการนําไปฝังกลบและลดขยะอาหารเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2030 และบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสทั้งหมด 100% ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2025
สำหรับการดำเนินงาน (actions) ในด้านการลดขยะอาหารนั้น โลตัส ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะอาหารอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร โดยปัจจุบันได้บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับผู้ยากไร้และองค์กรการกุศลรวมกว่า 2.87 ล้านมื้อ และได้บริจาคอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วกว่า 51,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะอาหารในธุรกิจให้เป็นศูนย์ตามวิสัยทัศน์ โลตัส จะดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Farm to Fork เพื่อลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร การขนส่งสินค้าด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ การบริหารจัดการอาหารสดอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ขยายการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ตลอดจนถึงการสร้างการรับรู้ในภาคครัวเรือนเกี่ยวกับขยะอาหารและการแยกขยะที่ถูกต้อง
ขณะเดียวกันการดำเนินงาน (actions) ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โลตัส ได้ตั้งเป้าหมายให้บรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสทั้งหมด 100% ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจนเกือบบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยบรรจุภัณฑ์ประเภทอาหารสดและสินค้าอุปโภคทั้งหมด 100% สามารถรีไซเคิลได้แล้ว และหากดูในภาพรวมทั้งหมดความคืบหน้าอยู่ที่ 98.8% อีกส่วนสำคัญของแผนงานด้านบรรจุภัณฑ์คือการรีไซเคิล ทั้งการรีไซเคิลขยะที่เกิดจากการดำเนินงานภายในธุรกิจของโลตัสเอง และที่สำคัญคือการช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสามารถแยกและรีไซเคิลขยะได้อย่างสะดวกผ่านสาขาของโลตัส โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการตั้งจุดรับขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โลตัส สามารถรวบรวมขวดพลาสติกได้เกือบ 3 ล้านขวด พลาสติกยืดกว่า 1.5 ล้านกิโกรัม และกล่องและลังกระดาษกว่า 157 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และพร้อมจะเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรเพิ่มเติม รวมถึงซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อเก็บรวมรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ได้ต่อไป
“ถ้าถามว่าห้าหัวข้อหลักที่โลตัสประกาศในวันนี้ ข้อใดยากเป็นพิเศษ ที่จริงแล้วแต่ละหัวข้อขับเคลื่อนยากทั้งหมด โดยเฉพาะข้อที่ต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่เราต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในทุกปี"