xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่การบริหารจัดการสู่ความยั่งยืน / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะนี้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ใน “วิทยาการจัดการ” เพื่อให้สามารถตอบโจทย์สภาวะ VUCA World ไล่ตั้งแต่ความคิดฐานราก โครงสร้างเชิงระบบ กระบวนทัศน์ ไปจนถึงโมเดลการดำเนินงาน

เป็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการอย่างมีนัยยะ จากที่มุ่งสู่ “ความทันสมัย” เป็นการมุ่งสู่“ความยั่งยืน” ที่เน้นการพัฒนา “ปัญญา” ไม่ใช่แค่ “องค์ความรู้” เน้นการปรับ “Mindset” มากกว่าแค่การยกระดับ “Skill-Set” เน้นการสร้าง “System Well-being” มากกว่าแค่ “Individual Well-being” ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ในปริมณฑลทางธุรกิจ แต่ได้แผ่ขยายไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งการบริหารจัดการภาครัฐ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ฯลฯ

โลกใบใหม่ ไม่เหมือนเดิม
อารยธรรมมนุษย์มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง จาก “สังคมเกษตร” สู่ “สังคมอุตสาหกรรม” จากนั้นเปลี่ยนมาสู่ “สังคมองค์ความรู้” และ “โลกหลังสังคมองค์ความรู้” (Post Knowledge Based Society) ในปัจจุบัน

สภาพแวดล้อมที่พวกเราอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากเดิมเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี “อนาคตที่ค่อนข้างชัดเจน” สู่ “อนาคตที่เป็นไปได้ในหลากหลายทางเลือก” จากนั้นเปลี่ยนมาสู่ “อนาคตที่ค่อนข้างคลุมเครือ” และในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี “อนาคตที่ไร้ความชัดเจน” หรือ “VUCA World”

เรากำลังอยู่ในโลกใบใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จาก “โลกที่คงรูป” สู่ “โลกที่เลื่อนไหล” จาก Linear World สู่ Non-Liner World เรากำลังต้องบริหารจัดการธุรกิจ บริหารจัดการภาครัฐ แม้กระทั่งบริหารจัดการชุมชน ภายใต้ Global Complex System ไม่ใช่ Local Simple System อีกต่อไป

ใน VUCA World เรากำลังอยู่ใน “โลกที่ไม่พึงประสงค์” ซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นวิกฤตเชิงซ้อนเป็นระลอก ๆ ตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 วิกฤตซัพพลายเชนโลก วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตโลกรวน วิกฤตเงินเฟ้อ ที่อาจตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในยุคนี้ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ “โครงสร้างเชิงระบบ” (Systemic Structure) ที่สามารถแสดงกลไกความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และหยั่งรู้ถึง “ความคิดฐานราก” (Mental Model) ที่กำหนดโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รูปแบบ ตัวขับเคลื่อน และผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงการพัฒนา “ปัญญา” (Wisdom) มิใช่แค่ “องค์ความรู้” (Knowledge) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Wisdom for Sustainable Development)

เมื่อเข้าใจโลกอย่างกระจ่างชัด จึงจะสามารถอยู่ร่วมกับโลกได้อย่างปกติสุข

ภายใต้ VUCA World ขีดความสามารถในการคาดการณ์ (Anticipative Capacity) นั้นไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนา “ขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยน” (Transformative Capacity) ที่สำคัญ Transformative Change ต้องเริ่มด้วย “การปรับเปลี่ยนชุดความคิดหรือ Mindset” มากกว่าการเน้นยกระดับ Skillset ผ่าน Reskilling, Upskilling หรือการพัฒนา New Skill เพียงอย่างเดียว

เราจะเปลี่ยนจากโลกที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่มุ่งสู่ความทันสมัย (Modernism) บนความคิดฐานรากของ Ego-Centric Mental Model ที่นำไปสู่ความไม่สมดุลของระบบ จนเกิดเป็นวิกฤตต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไปสู่โลกที่พึงประสงค์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน (Sustainism) บนความคิดรากฐานของ Eco-Centric Mental Model ที่ทำให้เกิดการปรับสมดุลของระบบ และก่อเกิดเป็นความยั่งยืนเชิงพลวัตในที่สุดได้อย่างไร

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดฐานราก จาก Ego-Centric Mental Model ที่เอาตัวเองและธุรกิจเป็นศูนย์กลาง แล้วจึงค่อยหันมามองเศรษฐกิจ สังคม และโลก ตามลำดับ ไปสู่ Eco-Centric Mental Model ที่เอาโลกเป็นศูนย์กลาง ตามมาด้วยสังคม เศรษฐกิจ และสุดท้ายค่อยหันมามองว่าเราจะทำธุรกิจบนระบบนิเวศที่เราอยู่ได้อย่างไร

ทุกอย่างมี 2 ด้านของเหรียญเสมอ ระบบทุนนิยมก็เช่นกัน อย่างน้อยระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนคนทั่วไป จากคนที่ “ยากจนข้นแค้น” มาเป็นคนที่ “พอประทังชีวิต” แต่เนื่องจากระบบทุนนิยมเน้น Ego-Centric Mental Model ที่เอาความโลภของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่าความโลภก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดความโลภ (Greed to Growth, Growth to Greed) จึงนำไปสู่ “ความไม่พอเพียง” (Insufficient) ตลอดเวลา และสุดท้ายก็นำกลับไปสู่ความยากจนข้นแค้น วนเวียนกลายเป็นวงจรอุบาทว์

ซึ่งวงจรอุบาทว์นี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภของมนุษย์ การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การง่่วนอยู่กับตัวเองโดยไม่คิดเผื่อคนรุ่นต่อไป ด้วยความพยายามที่จะครอบงำและควบคุมธรรมชาติ

Ego-Centric Mental Model ส่งผลให้โลกมีความไม่สมดุลเชิงระบบ 7 ประการ คือ

1) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดมากเกินไป ใช้ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์น้อยเกินไป
2) เห็นแก่ผู้คนปัจจุบันมากเกินไป คิดเผื่อคนรุ่นหลังน้อยเกินไป
3) เน้นหนักการบริโภคมากเกินไป เน้นหนักคุณภาพชีวิตน้อยเกินไป
4) ตอบสนองต่อความต้องการที่ล้นเกินของคนรวยมากเกินไป ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของคนจนน้อยเกินไป
5) ให้ค่ากับความชาญฉลาดในการดำเนินธุรกิจมากเกินไป ให้ค่ากับคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจน้อยเกินไป
6) เรียนรู้จากความสำเร็จมากเกินไป ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดและความล้มเหลวน้อยเกินไป
7) ให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์มากเกินไป ให้ความสำคัญกับปัญญามนุษย์น้อยเกินไป

จะเห็นได้ว่าปัญหาของโลกทั้งมวลล้วนเกิดจากความไม่สมดุลของระบบ (Systemic Imbalance) ดังนั้นเราต้องมาขบคิดว่า เราจะปรับสมดุลเชิงระบบ (Systemic Rebalance) ของโลกได้อย่างไร

ในบริบทของการบริหารจัดการ ที่ปรับเปลี่ยนจาก Ego-Centric Mental Model ไปสู่ Eco-Centric Mental Model เริ่มจากการทบทวน “สมมติฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”

- จาก Nature as Resource ที่มองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากร ไปเป็น Nature as Source ที่มองว่าเราหยิบยืมจากธรรมชาติ และต้องคืนกลับให้ธรรมชาติ

- จากการที่มุ่งใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือมาตอบโจทย์ตนเอง ไปเป็นการที่มุ่งพึ่งพาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน

- จากการมุ่งสร้างอำนาจเหนือธรรมชาติ ควบคุมธรรมชาติ ไปเป็นการมุ่งเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

- จากความพยายามจะตักตวงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วม ไปเป็นความตั้งใจที่จะปกป้องทรัพยากรร่วม
พร้อม ๆ กับการเปลี่ยน “สมมติฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์”

- จากมนุษย์มีข้อบกพร่องและไม่น่าไว้วางใจ เป็นมนุษย์มีศักยภาพสามารถสร้างความเป็นไปได้ที่หลากหลาย

- จากมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุมีผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ เป็นสัตว์สังคมที่ปรารถนาอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างปกติสุข

- จากเรียกร้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เป็นคุ้มครองปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม


การทบทวนสมมติฐานดังกล่าว นำมาสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เรากำลังเปลี่ยนจากโลกที่พัฒนาไปสู่ความทันสมัย ที่มีกระบวนทัศน์ คือ การใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมธรรมชาติ (Controlling Nature) เชื่อในการแข่งขันโดยการพยายามจะควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น (Controlling Others)ไปสู่โลกที่พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ที่มีกระบวนทัศน์คือ การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและผู้อื่นอย่างกลมกลืน (Living in Harmony with Nature & Others)

ภายใต้ Ego-Centric Mental Model เราถูกสอนให้เน้นการสร้างความอยู่ดีมีสุขของตัวเอง (Individual Wellbeing) ซึ่งนำมาสู่ความไม่สมดุลเชิงระบบ ดังนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนจากที่เคยให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขของตัวเอง ไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของระบบ (System Wellbeing) ที่เน้นใน 2 มิติด้วยกันคือ ความอยู่ดีมีสุขร่วมกับผู้อื่น (Collective Wellbeing) และความอยู่ดีมีสุขร่วมกับธรรมชาติ (Planetary Wellbeing) ซึ่งจะนำมาสู่การปรับสมดุลเชิงระบบ ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

มิเพียงเท่านั้น เรายังถูกสอนให้เน้น Maximizing Individual Benefit และ Minimizing Individual Loss หรืออาจกล่าวง่าย ๆ คือ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” โดยการผลักภาระปล่อยของเสียและมลพิษออกสู่สภาวะแวดล้อมภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ยั่งยืน การที่จะอยู่อย่างถูกต้องและยั่งยืนได้นั้นจะต้องปรับเปลี่ยน Mindset จาก “Maximizing Individual Benefit และ Minimizing Individual Loss” ไปสู่ “Maximizing System Benefit และ Minimizing System Loss” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จาก Individual Wellbeing ไปสู่ System Wellbeing นั่นคือ

- จาก Short-term Individual Gain, Long-term System Loss ไปสู่ Short-term Individual Loss, Long-term System Gain (COVID-19 เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ผู้คนให้ความร่วมมือยอมฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่รอดปลอดภัยจากการระบาด)

- จาก Local Maximum, Local Minimum ด้วยการ Internalizing Good เข้าหาตัว Externalizing Bad ออกสู่ระบบ ไปสู่ Global Maximum, Global Minimum ด้วยการ Internalizing ทั้ง Good และ Bad Externality (การผลักดันขององค์กรธุรกิจเอกชนไปสู่ Net Zero Economy เป็นตัวอย่างที่ดี)

- ในบริบทของภาคธุรกิจจาก Shareholder Value Creation ไปสู่ Stakeholder Value Creation (ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก Doing Well then Doing Good เป็น Doing Well by Doing Good)

ภายใต้ Greed to Growth, Growth to Greed เราเชื่อว่าหากความมั่งคั่งมากขึ้น ความสุขก็จะมากขึ้นตาม สุดท้ายจึงทำให้เราวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้น

แต่การจะเปลี่ยนจาก Ego-Centric มาสู่ Eco-Centric Mental Model เราจะต้องรู้จักพอเพียง คือเมื่อเราพอประทังชีวิตและอยู่รอดแล้ว เราจะต้องพอเพียง

พูดอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปัน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบ และจะทำให้ความเป็นปกติสุขเกิดขึ้นตามมา

อนาคตของวิทยาการจัดการ
ในปัจจุบันเรามักจะสอนกันว่า การจะได้มาซึ่งผลลัพธ์จะต้องมีกลยุทธ์ และต้องพัฒนาขีดความสามารถที่จะไปขับเคลื่อนกลยุทธ์เหล่านั้น ผ่านการใช้ Data ประมวลออกมาเป็น Information และพัฒนาเป็น Knowledge รวมถึงเชื่อว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Data Science และ ICT ทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น แต่การที่จะไปตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ข้อต่อที่ขาดหาย (Missing Link) คือ “ปัญญา” (Wisdom)

เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเน้นปัญญามากกว่าแค่องค์ความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจะไปสู่โลกที่น่าอยู่กว่านี้ มีอนาคตที่สดใสกว่าเดิม ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนเชิงระบบ (Systemic Transformation) ที่เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนความเชื่อ จาก “The Bigger, the Better” ไปสู่ “The Smart, the Better” จาก “The Richer, the Better” ไปสู่ “The More Options, the Better” และจาก “If you want to go fast, go alone” ไปสู่ “If you want to go far, go together”

บทความโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์


กำลังโหลดความคิดเห็น