xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโครงการเด่น SME Scale Up Program for Plastics Circularity หยุดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



The Incubation Network เดินหน้าบุกไทย มุ่งเชื่อมต่อเครือข่ายพันธมิตรหลากหลาย ร่วมแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ล่าสุด รุกผลักดันโครงการ SME Scale Up Program for Plastics Circularity มอบ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ สนับสนุน SMEs 5 ราย ส่งผลช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตันต่อปี

โครงการ Thailand SME Scale Up Program for Plastics Circularity จัดขึ้นโดย The Incubation Network ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการแห่งศศินทร์ และ Weable2 เป็นโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอีไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านการรวบรวม จัดเก็บ รีไซเคิล และอัพไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการสามารถเติบโตและขยายการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ประจำองค์กร The Incubation Network กล่าวว่า โครงการฯ เฟ้นหาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านจัดเก็บขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล หรือแปลงขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์อื่น รวมถึงธุรกิจที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติก แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสที่ 1 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม workshop ทั้งสิ้น 27 ราย จากที่ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 92 ราย และจากการดำเนินโครงการในเฟสแรก ได้คัดเลือกเอสเอ็มอี 5 บริษัทเพื่อเข้าร่วมโครงการในเฟสที่ 2 พร้อมมอบเงินสนับสนุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐ โดยเอสเอ็มอีได้รับรายละ 20,000 เหรียญสหรัฐ และผลจากการสนับสนุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีกลุ่มนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตันต่อปี


เอสเอ็มอี 5 บริษัทดังกล่าว ประกอบด้วย

๐ บริษัท นำง่ายฮง จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ.2504 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากพลาสติก เช่น ถังขยะ ถังน้ำ กล่องใส่ของ กาละมัง เก้าอี้ ตะกร้า และในปี พ.ศ.2562 บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ Nameco ซึ่งสินค้าภายใต้แบรนด์เป็นอุปกรณ์และของใช้ในครัวเรือนที่ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบ

๐ บริษัท เอ็ม.บี.เจ. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ.2538 ดำเนินธุรกิจเทรดดิ้ง ผลิตไม้เทียม (Wood Plastic Composite หรือ WPC) รวมถึงนำเข้าและจัดจำหน่ายวัตถุดิบและเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง ปัจจุบันบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้แนวทาง upcycling ผลิตพาเลทไม้เทียมจากขยะพลาสติก MLP (Multilayer Packaging เช่น ถุงขนมขบเคี้ยว-กรุบกรอบ) ซึ่งเมื่อมีการแตกหัก ก็สามารถนำกลับเข้าระบบเพื่อผลิตใหม่ได้ เป็นการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ โดยแหล่งของวัตถุดิบพลาสติกที่นำมารีไซเคิลมาจากบ่อขยะในจังหวัดพิษณุโลก นครราชสีมา และสมุทรปราการ

๐ บริษัท เอส.พี.เปเปอร์ แอนด์ ทิ้ว จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2544 ดำเนินธุรกิจซื้อ-ขายเศษกระดาษน้ำตาลและกระดาษอื่นรวมถึงจุกอุดแกนกระดาษ โดยในปีพ.ศ.2559 ขยายการดำเนินธุรกิจโดยนำกล่อง UHT เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตวัสดุสำหรับงานก่อสร้าง ประเภทแผ่นชิ้นไม้อัดที่เรียกว่า Enviro Board การดำเนินการดังกล่าวช่วยลดการใช้พลาสติกเม็ดใหม่ได้เป็นจำนวนมาก

๐ บริษัท บริษัท ยูเนี่ยน เจ. พลัส (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2544 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Post-Consumer Recycled Resin) ประเภท HDPE, LDPE และ PP ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลที่นิยมใช้กันอย่างแพร่พลายในปัจจุบัน เช่น ถุงพลาสติก ท่อพลาสติก ภาชนะพลาสติก ประเภทถัง กะละมัง ตะกร้า ลัง และพาเลท

๐ บริษัท บีเอ็มพี เคมิคัลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาการจัดการขยะและการรีไซเคิลด้วยการใช้สูตรเคมีพิเศษที่ทำให้เกิดกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี หรือ Chemical Recycling ซึ่งการดำเนินงานยังอยู่ในระดับ lab scale แต่มีความหวังว่าหากสามารถดำเนินการได้จริงในเชิงพาณิชย์ จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับวงการรีไซเคิลได้ในวงกว้าง

มองโอกาส 5 ด้านขับเคลื่อนประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์วิกฤติขยะพลาสติกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานประจำเดือนกันยายน 2564 ในหัวข้อ Rethinking Plastic Waste in Thailand ของ The Incubation Network ระบุว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและช่องโหว่ในการบริหารจัดการขยะในประเทศไทยสามารถแก้ไขได้ หากได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและนวัตกรรมส่วนการจัดการขยะของประเทศไทยในปัจจุบัน จากสถิติพบว่าประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลก ในการก่อมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทร

โดยประเทศไทยก่อให้เกิดขยะ 322,000 ตัน จากขยะจำนวนทั้งสิ้น 8-12 ล้านตัน ที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี ซึ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทยก่อให้เกิดการรั่วไหลของพลาสติกเกือบร้อยละ 60 ของจำนวนพลาสติกทั้งหมดที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ขณะที่อัตราการจัดเก็บขยะในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 70 และขยะส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการกำจัดไม่ถูกต้อง เช่น การนำไปเผา การทิ้งโดยการฝั่งกลบอย่างไม่ถูกหลักสุขอนามัย หรือรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งความท้าทายในการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย อยู่ที่กำลังการรีไซเคิลที่มีจำกัด และความต้องการพลาสติกที่ใช้งานแล้วยังมีน้อย ทั้งยังมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการรีไซเคิลต่ำ

ส่วนการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อลดขยะพลาสติก รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและวัสดุที่สร้างขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ภายในปี 2565 และรีไซเคิลขยะพลาสติกทั้งหมด (ร้อยละ 100) ภายในปี 2570 ขณะที่ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนำร่อง 2 แห่ง คือในจังหวัดระยอง และเขตคลองเตย เพื่อทดสอบโมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเก็บและรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้จำนวน 40 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชุมชน เช่น ระบบคัดแยกขยะแบบกึ่งอัตโนมัติ และระบบผลิตพลาสติกชิ้นเล็กๆ


อย่างไรก็ตาม ก้าวต่อไปของการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ดร.ศิรินทร์ชญา มองว่า มีโอกาส 5 ด้าน ได้แก่

1. การช่วยผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลให้เข้าถึงความต้องการผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากทั่วโลก
ธุรกิจรีไซเคิลในประเทศไทยต้องการความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากตลาดโลกต้องการสินค้ารีไซเคิลที่มีคุณภาพสูง ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานของการรีไซเคิลในประเทศไทยยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก

2. การใช้วัสดุที่มีนวัตกรรมช่วยลดการใช้งานพลาสติกผลิตใหม่
สตาร์ทอัพควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกับธุรกิจด้านพลาสติกชีวภาพและสร้างความหลากหลายในตลาด ด้วยการใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนของรัฐบาล งานวิจัย และความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน

3. การให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานนอกระบบ
แรงงานและบุคลากรที่จัดเก็บขยะนอกระบบควรได้รับการสนับสนุนเพื่อช่วยให้พวกเขามีงานที่มั่นคง สุขอนามัยที่ดี และเพิ่มบทบาทของผู้หญิง

4. ปรับพฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้บริโภคจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ เพิ่มการใช้พลาสติกทางเลือก และปรับปรุงการคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ตั้งแต่ต้นทาง

5. นำแนวคิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ในระบบการจัดเก็บขยะ
ใช้แนวทางการจัดการขยะแบบบูรณาการ ซึ่งเริ่มจากการคัดแยกขยะตั้งแต่ทิ้งครั้งแรก แยกการจัดเก็บและย้ายขยะแต่ละประเภท คัดแยกขยะ นำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นำขยะกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีวิธีการแก้ปัญหาที่มุ่งแก้ปัญหาพลาสติกที่โดดเด่นมากมาย ซึ่งต้องการการสนับสนุนและเงินลงทุนเพื่อพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาให้นำไปใช้ได้จริงอย่างเต็มศักยภาพ The Incubation Network ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของผู้ประกอบการผ่านการสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

The Incubation Network องค์กรรักษ์โลก
ผุดโครงการแก้โจทย์ใหญ่เรื่องสิ่งแวดล้อม

The Incubation Network เป็นองค์กรที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม โดยให้การสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลาย โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ นักลงทุน พันธมิตร และโครงการต่างๆ โดยเฉพาะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขจัดอุปสรรคในการแก้ปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการลงทุนหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการของเสียและการรีไซเคิล

“The Incubation Network พร้อมร่วมมือกับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเครือข่าย องค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา หรือMentor ที่ต้องการแก้ปัญหาการรั่วไหลของขยะพลาสติก และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ดร.ศิรินทร์ชญา กล่าวถึงที่มาของ The Incubation Network ว่า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 จากความร่วมมือระหว่าง The Circulate Initiative องค์กรไม่แสวงหากำไร และ SecondMuse บริษัทที่เน้นด้านนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง สำหรับการเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย เนื่องจากพบว่าประเทศไทยก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งนำไปสู่การเกิดผลกระทบระยะยาวด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ดังนั้น การจัดการขยะรวมถึงการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ประเทศไทยลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่มหาสมุทร

The Incubation Network จึงมุ่งมั่นพัฒนาการจัดการขยะพลาสติกและเสริมสร้างระบบขยะหมุนเวียนในไทยผ่านการร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานและพันธมิตร โดยการเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ซึ่งโครงการที่ดำเนินการในประเทศไทยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติกในระบบนิเวศของผู้ประกอบการและชี้ให้เห็นว่าธุรกิจร่วมทุนสามารถสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้

วิธีการทำงานของ The Incubation Network เพื่อจัดการกับอุปสรรคและช่องว่างในประเทศไทย เป็นการช่วยพัฒนาธุรกิจที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ด้วยการเฟ้นหาโครงการที่มีศักยภาพ หาเงินทุน และ/หรือการลงทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และช่วยสตาร์ทอัพเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนเพื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติกในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจและให้คำปรึกษาผ่านหน่วยงานและองค์กรพันธมิตรที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าในประเทศไทย พร้อมทั้งทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง องค์กรที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ องค์กรภาคประชาสังคม รัฐบาล นักลงทุน รวมถึงพันธมิตรและโครงการต่างๆ เพื่อสร้างวิธีการแก้ปัญหาขยะร่วมกัน

ทั้งนี้ การสร้างศักยภาพและความสามารถของผู้ที่มีบทบาท รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในระบบนิเวศของการจัดการขยะ ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญญาในแต่ละท้องถิ่น อีกทั้ง ยังส่งเสริมทักษะและถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในประเทศไทย โดยในปี 2564 องค์กร The Incubation Network ได้ร่วมมือกับ 3 องค์กรชั้นนำด้านการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของไทย ได้แก่ Seedstars, Alliance to End Plastic Waste และ STEAM Platform เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์อัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ด้วยการให้ความรู้ สร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์

ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ประจำองค์กร The Incubation Network
ในปี 2565 มุ่งดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

๐ โครงการ Thailand Plastics Circularity Accelerator เน้นการช่วยเหลือธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกที่ดำเนินการในไทย รวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีแผนจะเข้ามาทำธุรกิจในไทย ให้สามารถต่อยอดและขยายธุรกิจได้ โดยได้ดำเนินการให้คำปรึกษา (Mentor) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

๐ โครงการ Thailand SME Plastics Circularity Scale Up Program เปิดรับสมัครผู้ประกอบการถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นโครงการที่เฟ้นหาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านจัดเก็บขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล หรือแปลงขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์อื่น รวมถึงธุรกิจที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติก

๐ โครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy มีผู้ประกอบการที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจ 11 ราย ร่วมเข้ารับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์ โดยผู้ประกอบการทั้ง 11 รายได้ร่วมนำเสนอไอเดียในงาน Demo Day แล้ว

๐ โครงการ The SUP Challenge เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ได้รับการสนับสนุนโดย PREVENT Waste Alliance ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลเยอรมนี เปิดรับสมัครองค์กรบ่มเพาะผู้ประกอบการที่เน้นการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิกของโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับองค์กรสมาชิกรายอื่นๆ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ดาว เคมิคอล กลุ่มเอสซีจี และบริษัท สยามพิวรรธน์ เป็นต้น ทั้งนี้ PPP Plastics ก่อตั้งขึ้นโดนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)

พร้อมทั้ง ผลักดัน Circularity Concepts ร่วมกับ RRS Asia นำเสนอแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบต่อเนื่องเพื่อสร้างความรอบรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหา วัสดุ นโยบายและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกในเอเชีย โดยมีการจัด webinar ครั้งแรกในหัวข้อ Extended Producer Responsibility (EPR) ซึ่งเป็นแนวคิดการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์


กำลังโหลดความคิดเห็น