ปัจจุบัน ความสนใจของผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ที่มีต่อข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) สำหรับใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ได้ทวีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตามเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน
โดยจากการสำรวจของ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เผยว่า ขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในกอง ESG ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 35 ล้านล้านเหรียญ และในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 41 ล้านล้านเหรียญ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านล้านเหรียญ ในอีกสามปีข้างหน้า
ขณะที่ ตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าเกินระดับ 1 พันล้านเหรียญเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 28 ต่อปี (CAGR) แยกเป็นข้อมูลในส่วนวิเคราะห์วิจัย เติบโตร้อยละ 24 ต่อปี มีสัดส่วนตลาดอยู่ราวร้อยละ 70 ของขนาดตลาด ขณะที่ข้อมูลในส่วนดัชนี เติบโตร้อยละ 38 ต่อปี โดยมูลค่าตลาดข้อมูลดัชนี ESG มีตัวเลขเกิน 300 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา (https://www.opimas.com/research/742/detail/)
ในส่วนที่เป็นข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ผู้เล่นสำคัญในตลาด คือ หน่วยงานผู้ประเมิน ที่เรียกว่า ESG Rating Providers ซึ่งทำการประมวลข้อมูลป้อนให้กับผู้จัดทำดัชนี และยังมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกิจการ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้แก่กิจการ และช่วยขับเน้นภาพลักษณ์ให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมด้วยบทบาทของผู้ให้บริการ ทำให้งานประเมิน ESG ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในตลาดทุน ที่ช่วยลดภาระงานวิจัยของผู้จัดการกองทุนในการมองหาการลงทุนที่มีศักยภาพ ช่วยชี้จุดที่เป็นข้อควรกังวลต่อการลงทุน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสานสัมพันธ์ภายใต้ธีมกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี งานประเมิน ESG มิใช่งานที่ทำให้ดีได้โดยง่าย เนื่องจาก
ประการแรก ข้อมูลเบื้องหลังที่ใช้สำหรับประเมินมีปริมาณที่มากและซับซ้อน เพราะการประเมินต้องครอบคลุมข้อมูลที่มาจากสามส่วนหลักทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ผู้ประเมินจำต้องวิเคราะห์ประเด็นย่อยนับร้อยในแต่ละหัวข้อหลัก พร้อมกับการให้น้ำหนักหรือการจัดลำดับความสำคัญ (ในแต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีน้ำหนักและลำดับความสำคัญของประเด็นที่แตกต่างกัน)
ประการที่สอง รูปแบบการประเมิน มิได้มีแบบเดียวที่เหมือนกันตายตัว เพราะผู้ประเมินจะต้องออกแบบการประเมินให้เหมาะสมกับความมุ่งประสงค์ในการใช้และกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายแตกต่างกัน จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ประเมินในหลายรูปแบบ อาทิ การประเมินที่เน้นพิจารณาเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคในมิติหญิงชาย การต้านทุจริต ฯลฯ
ประการที่สาม ความพร้อมใช้และความเพียงพอของข้อมูลที่ใช้ประเมิน แม้การรายงานความยั่งยืนจะมีมานานระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องดำเนินการสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ โดยจากการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี พ.ศ.2564 (The State of Corporate Sustainability in 2021) โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีเพียงร้อยละ 15.13 จาก 826 กิจการ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report)
นอกจากนี้ มาตรฐานและแนวทางการรายงานที่กิจการใช้อ้างอิง ก็ยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมิได้มีมาตรฐานหรือแนวทางการรายงานเดียวที่ถูกแนะนำให้กิจการใช้ในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้รูปแบบการรายงานของกิจการมิได้คล้องจองเป็นแบบเดียวกัน ส่งผลให้มีความยากลำบากต่อการประเมิน และเมื่อไม่พบข้อมูลที่จะใช้สำหรับประเมิน บ่อยครั้งที่สำนักประเมินจะใช้วิธีสันนิษฐานข้อมูลจากแบบจำลองที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์การประเมินที่ขาดความแม่นยำ และไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น เราจึงพบว่า ผลการประเมิน ESG ของแต่ละสำนักประเมิน มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้แต่การประเมิน ESG ของกิจการเดียวกัน ยังให้ผลประเมินที่ต่างกัน จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลประเมิน ESG ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการประเมินตามแต่บุคคล รวมถึงความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ระหว่างกิจการที่ถูกประเมิน อาทิ การเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) ก็ยังมีข้อสงสัยในความเที่ยงตรงของผลการเปรียบเทียบเช่นกัน
เส้นทางของธุรกิจผู้ให้บริการข้อมูลการประเมิน ESG ยังมีโอกาสพัฒนาและเติบโตได้อีกมาก จึงไม่แปลกที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จะมีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ โดยมากกว่าสองในสามของตลาด เป็นของผู้ให้บริการในส่วนข้อมูลวิเคราะห์วิจัย ESG ตามการคาดการณ์ของออพิมัส
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ประธานสถาบันไทยพัฒน์