ผลวิจัยชี้ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” พฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะขยับร่างกายลดน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังอาหาร
ผลการวิจัยของอาจารย์ ดร.วริศ วงศ์พิพิธ สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาการศึกษา ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยอาจารย์ทำงานวิจัยชิ้นนี้ระหว่างศึกษาในระดับปริญญาเอกที่คณะครุศาสตร์ The Chinese University of Hong Kong นับเป็นงานวิจัยแรกในศาสตร์ทางด้านสรีรวิทยาของพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ศึกษาวิจัยในคนเอเชีย
ผลการวิจัยจากการศึกษาในกลุ่มผู้ชายที่มีภาวะอ้วนลงพุงซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต่างๆ ชี้ชัดว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือพฤติกรรมการนั่งเอนหลัง หรือนอนในขณะที่ตื่นนอนแล้ว โดยที่ภาวะต้นขาอยู่ขนานกับพื้นในขณะที่ตื่นนอน เช่น เวลานั่งทำงาน นั่งเรียนในห้องเรียน ร่างกายจะใช้พลังงานค่อนข้างต่ำคือน้อยกว่า 1.5 METs ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งนี้ หลังจากนั่ง 30 นาที หากลุกขึ้นแล้วเดินช้าๆ อย่างน้อย 3 นาที หรือถ้าต้องการสะสมการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เช่น เดินเร็วๆ 1 นาทีครึ่งเป็นต้นไป จะส่งผลดีต่อเมตาบอลิซึม ทำให้ค่าน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังรับประทานอาหารลดลง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจได้
ผลการวิจัยเรื่องนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนไทยได้ทุกช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร และส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยในระหว่างวัน หลังจากพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่อง 30 นาที ควรแทรกกิจกรรมทางกายเข้ามา เช่น ยืน เขย่งขา ย่อตัวๆ อยู่ที่โต๊ะทำงาน โต๊ะเรียน หรือเดินเบาๆ เดินเร็วเพื่อให้กล้ามเนื้อมีการบีบและคลายตัว เพียงประมาณ 1.5- 3 นาทีเท่านั้น โดยที่เราสามารถทำได้ด้วยตนเองทั้งที่ทำงานหรือที่บ้าน ซึ่งไม่ทำให้เสียเวลางาน มีผลดีต่อสุขภาพที่ดีขึ้น