เมื่อวานนี้ (22 มิถุนายน 2565) นายจิระเดช บุญมาก หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่า สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดพบจระเข้น้ำจืด อายุประมาณ 7 ปี กำลังวางไข่ โดยพบตัวบริเวณเนินดินที่มีหญ้าปกคลุม ใต้สะพาน Boardwalk (เส้นทางศึกษาธรรมชาติ) ณ ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด คาดว่ามีจำนวนไข่ ประมาณ 8-12 ฟอง
ทั้งนี้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดได้มีมาตรการในการดูแล ป้องกัน และอนุรักษ์ โดยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทั้งกับจระเข้ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่
จระเข้น้ำจืด หรือเรียกกันว่า จระเข้บึง, จระเข้สยาม และ จระเข้น้ำจืดสายพันธุไทย (อังกฤษ: freshwater crocodile, Siamese crocodile ชื่อวิทยาศาสตร์: Crocodylus siamensis)
มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว ไทย, กาลีมันตัน, ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3 - 4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10-12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20-48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68-85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว
โดยปกติจระเข้น้ำจืดจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่เช่นที่ทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะทิวเขาพนมกระวาน ซึ่งช่วงแรกค้นพบเพียง 3 ตัว จนนำไปสู่การค้นพบจระเข้นับร้อยตัวที่อาศัยโดยไม่พึ่งพาอาศัยมนุษย์
แต่ที่นี่ประสบปัญหาการจับจระเข้ไปขายฟาร์มจำนวนมาก สถานะในอนุสัญญาของไซเตส ได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1) ปัจจุบัน จระเข้สายพันธุ์นี้แท้ ๆ ก็ยังหายากในสถานที่เลี้ยง เนื่องจากถูกผสมสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไปด้วยจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ
ข้อมูลอ้างอิง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช