xs
xsm
sm
md
lg

การประชุมสุดยอดผู้นำหญิงระดับโลก เจาะลึกมุมมองเศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้นำสตรีกว่า 600 คนจาก 52 ประเทศทั่วโลกร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสตรี Global Summit of Women โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เป็นประธานในพิธีเปิดซึ่งจัดขึ้นที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ และมีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ นางวีโยซา ออสมานี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคอซอวอ นางโว ทิ อันห์ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตลอดจนรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้นำภาคธุรกิจที่เป็นสตรีจาก 4 ทวีป นับเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับนานาชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยหลังจากมีการจัดประชุมมาแล้ว 32 ปี

การประชุมดังกล่าวมีนางไอรีน นาทิวิแดด เป็นประธานการประชุม โดยการลั่นระฆังเปิดประชุมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 22 มิถุนายน โดยมี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการจัดงานฝ่ายไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน


“การที่ผู้หญิงมาเป็นผู้ลั่นระฆังเพื่อเปิดงานที่ตลาดหลักทรัพย์นับได้ว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากในโลกนี้ การที่เรามาจัดกิจกรรมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ จึงเป็นสัญญาณที่สื่อถึงความสำคัญของผู้หญิงที่เป็นผู้นำบริษัทในประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว” นางไอรีนกล่าว

“เรายินดีที่ได้จัดการประชุมระดับโลกในประเทศไทย ที่มีผู้นำองค์กรชั้นนำมากถึง 40% เป็นสตรีตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก” นางไอรีนกล่าวเสริม

เนื่องจากการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดเป็นประจำต่อเนื่องมาแล้ว 32 ปี จะเน้นการสนับสนุนความก้าวหน้าของผู้หญิงทั่วโลกในด้านเศรษฐกิจ คณะผู้จัดงานจึงเรียนเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและโอกาสด้านการลงทุน ในหัวข้อ “การทำธุรกิจในประเทศไทย” และยังมีการประชุม Vietnam-Thailand BtoB Forum ที่หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามและหอการค้าไทยร่วมกันจัดขึ้นควบคู่ไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีครั้งนี้ในช่วงเช้า


ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 จะมีการเสวนาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าร่วมการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรี

ผู้ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ เป็นผู้นำสตรีในองค์กรเอกชนจาก 4 ทวีป และเนื่องจากจัดการประชุมในขณะที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หัวข้อในการประชุมจะเน้นการสนับสนุนการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจของสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การยกเลิกการจ้างงาน การปิดกิจการที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ เป็นต้น โดยจะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นในประเด็นว่านโยบายภาครัฐหรือวิธีการดำเนินธุรกิจแบบใดจะประสบความสำเร็จในยุคที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดโรคระบาด

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการจัดงานฝ่ายไทย
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า “ประเทศไทยยินดีที่ได้ต้อนรับกลุ่มผู้นำสตรีจากทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้ และผู้หญิงไทยพร้อมจะเดินหน้าไปกับผู้หญิงจากประเทศต่าง ๆ ในการเป็นผู้นำของโลกยุคหลังโควิด”

ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ จะมีการมอบรางวัลผู้นำหญิงยอดเยี่ยมระดับโลก (Global Women’s Leadership Awards) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ให้แก่ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของฉายา “หมอยายิปซี” ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและการต่อต้านเชื้อไวรัสทุกชนิด โดยเป็นผู้พัฒนายาต้านไวรัส HIV ราคาถูกที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา

นางไอรีน นาทิวิแดด ประธานการประชุม  Global Summit of Women
การประชุมดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 โดยมี 2 ประเด็นสำคัญที่บรรลุผลสำเร็จเป็นครั้งแรก ณ การประชุมที่กรุงเทพฯครั้งนี้ ได้แก่ เป็นการจัดการประชุมครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่จัดกิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน (carbon neutral) ซึ่งเป็นผลงานของคณะเจ้าภาพการจัดงานฝ่ายไทย และอีกประเด็นหนึ่ง คือ การกำหนดหลักการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) ในเรื่องความหลากหลายทางเพศในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทให้มีความชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ควรเป็นปัจจัยที่จำเป็นของหลักการธรรมาภิบาลขององค์กร โดยมีสองผู้นำสตรีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น ได้แก่ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนางไอรีน นาทิวิแดด ประธานการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรี

“การเปลี่ยนแปลงที่เอื้อประโยชน์ต่อสตรีจะเป็นจริงได้เร็วขึ้นเมื่อเราได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและกลยุทธ์ซึ่งกันและกันโดยไม่มีขอบเขตพรมแดนประเทศมากั้น และการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญทีจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” นางไอรีนกล่าว

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับโลก (Global Summit of Women – GSW) ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่นิวยอร์คโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่หวังผลกำไร ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีทั่วโลก องค์กรเหล่านี้ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมริเริ่มโดยผู้นำสตรีในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ที่ประสบความสำเร็จและกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับโลกเป็นการประชุมในเชิงธุรกิจที่เน้นบทบาทความก้าวหน้าของสตรีในเศรษฐกิจโลก