จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหารือ อนุ กมธ ปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน วุฒิสภา และ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ฟื้นโอกาสท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืนของจังหวัดน่าน
ศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะทำงานโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จุฬาฯ หารือกับคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นำโดยนายจรินทร์ จักกะพาก สมาชิกวุฒิสภา และนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน ถึงแนวทางการ "ฟื้นคืนจาก Covid 19" ด้าน"โอกาสการทำงาน“ ในภาคท่องเที่ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภา และทางจังหวัดน่าน รวมทั้งได้นำคณะ อนุกรรมาธิการฯ ศึกษาดูงานที่โครงการได้ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือของจังหวัดน่านและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของชุมชนในจังหวัดน่านต่อไป
โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความร่วมสมัยและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดน่านมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวคู่ขนานกัน โดยมีจุดเน้นบนฐานอัตลักษณ์ของน่าน ได้แก่ ด้านสิ่งทอ (Craft) และหัตถกรรม ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอด้านสุขภาพ (Wellness) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร บริการเสริมสุขภาพ โฮมสเตย์ การท่องเที่ยวสีเขียว (Green) เศรษฐกิจหมุนเวียนและการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นวัตกรรมขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) และคาร์บอนต่ำ (Low carbon)
จากการดำเนินการในโครงการได้ผลผลิตที่สำคัญ คือ
ฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ เส้นทางและคู่มือท่องเที่ยว ตัวแบบ แฟชั่น แบรนด์ พื้นที่นำร่อง ทุนมนุษย์ ศักยภาพชุมชนและท้องถิ่น เครือข่ายที่พร้อมทำงานคลัสเตอร์สิ่งทอ ครูพี่เลี้ยง
ชมรมท่องเทที่ยววิถีชุมชน วิทยาลัยชุมชน ผู้ประกอบการสังคมท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ทั้งนี้ โครงการได้ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วย เส้นทางเชื่อมโยง แหล่งวัฒธรรมที่ออกแบบแล้ว
ประวัติศาสตร์ที่นำมาเป็นเรื่องเล่า อัตลักษณ์วิถีชุมชนดั้งเดิม 5 ชุมชน ได้แก่ มณีพฤกษ์ ห้วยสะแตง ยอด บ่อเกลือใต้ และสันทะ รวมทั้งเส้นทางสายทุนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เที่ยว ทัศน์ ทอ รักษ์สุขภาพ ประวัติศาสตร์หลวงติ๋น และวิถีชุมชนเกษตร
การดำเนินการดังกล่าว หากมีการสนับสนุนและดำเนินการต่อเนื่อง จะทำให้ชุมชนมีรายได้สูงขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ชุมชนสามารถดูแลมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวตลอดจนให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐมีนโยบายการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้พัฒนากลไกการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยการออกแบบและทดลองจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานงานวิจัย ให้คำปรึกษา บริการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การสื่อสารเพื่อการตลาด การพัฒนาตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนการพัฒนาตลาดเฉพาะ ผ่านการเรียนรู้เผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป
โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)
ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) โดยสถาบันเอเชียศึกษา โดยมี รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการ และศ.ดร.ฉันทนา หวันแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการมีคณาจารย์จากคณะและสถาบันต่างๆ เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันการขนส่ง สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2562-2565) ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดน่าน และจังหวัดในบริเวณอันดามัน เช่น ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น