xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมาภิบาล”สำคัญที่สุด ตัวชี้ขาดทำให้ESG สำเร็จ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระแสโลกทุกวันนี้กระหึ่มด้วยคำว่า”ความยั่งยืน”หรือ Sustainability ซึ่งมีแนวทางESGเป็นองค์ประกอบ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ESG” กลายเป็นรหัสสำคัญที่วงการธุรกิจและนักลงทุนมืออาชีพ อ้างอิงคำสำคัญนี้ในการเลือก คบหา-ทำการค้า-สนับสนุน หรือร่วมลงทุน ในกิจการที่ผู้บริหารดำเนินการอยู่ในแนวทาง 3 มิติ ได้แก่

เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ( E) - Environmental

รับผิดชอบต่อสังคม (S ) - Social / Stakeholder

มีธรรมาภิบาล (G) - Governance

แสดงว่าในยุคปัจจุบัน ผู้บริหารที่มุ่งสร้างตัวเลข "มูลค่า" ของผลประกอบการให้เป็นเลิศ( เช่น ยอดขายสูงสุด ส่วนแบ่งตลาดสูงสุด กำไรสูงสุด ราคาหุ้นสูงสุด) ”ถือว่ายังไม่พอ”

เพราะสังคมธุรกิจยุคนี้ ต้องการเห็น ”คุณค่า” จากการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(E) สร้างผลดีต่อสังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(S) และดำเนินกิจการด้วยหลักธรรมาภิบาล(G)


โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว G คือมีธรรมาภิบาล หมายถึง ความซื่อสัตย์ สุจริต ทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างความเชื่อถือและเชื่อใจ แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ( ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสังคมวงกว้าง)

หน่วยงานกำกับตลาดทุน คือ กลต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงพยายามผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินกิจการ ในแนวทาง ESG และต้องทำรายงาน เปิดเผยแผนและผลงานด้านนี้ต่อสังคมด้วย

แต่อย่านึกว่า การทำธุรกิจที่ยึดหลักESG จะต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่หรือหรือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเท่านั้น บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็กไม่เกี่ยวหรืออย่างไร ?

แท้จริงแล้ว วิถีธุรกิจที่มีเป้าหมายสร้างผลกำไร เคียงคู่กับการคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นความคาดหวังของสังคมและเป็นกติกาโลกยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้พฤติกรรมต่างๆไม่สามารถปิดเป็นความลับ

หลักธรรมาภิบาล จึงเป็นแนวคิดและวิธีปฏิบัติ ที่ภาคส่วนต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ กิจการธุรกิจ ทุกขนาด ทุกวงการ และคนทุกอาชีพ จำเป็นต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งไม่ได้เป็นภาระ ไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่จะเกิดผลความก้าวหน้าต่อบุคคล และองค์กร ลดความเสี่ยงเรื่องผิดกฎหมายและการถูกต่อต้านในระยะยาว

เมื่อพูดถึงภาคธุรกิจเมืองไทยที่มีประมาณ 2.8 ล้านกิจการ ในจำนวนนี้มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือSMEeทั้งหมดกว่า 95% ธุรกิจเหล่านี้จึงมีความสำคัญทั้งในแง่การค้า การผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

หากดำเนินงานด้วยหลักธรรมาภิบาล ที่ส่งผลดีถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับ”ความเชื่อถือและเชื่อใจ” ย่อมมีโอกาสเติบโตจากธุรกิจ ขนาดย่อม(S) กลายเป็นขนาดกลาง ( M)ได้อย่างยั่งยืน

การที่สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และสมาคมธนาคารไทย ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมธรรมาภิบาลมากกว่า 20 ปี

ทุกปีแต่ละธนาคารจะเสนอชื่อธุรกิจSMEที่มีคุณสมบัติดีเด่นด้านธรรมาภิบาล เข้าสู่กระบวนการประเมินผลและคัดเลือกเข้ารับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ดังที่มีพิธีมอบรางวัล 2 ปีล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้

รางวัลธรรมาภิบาลแห่งปี 2563

● รางวัลชนะเลิศ ธรรมาภิบาลดีเด่น
บริษัท สยามแฮนด์ส จำกัด

● รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อพนักงานดีเด่น
บริษัท ฟอร์แคร์ จำกัด

● รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภคดีเด่น
บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด


รางวัลธรรมาภิบาลแห่งปี 2565

● รางวัลชนะเลิศ ธรรมาภิบาลดีเด่น
บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด

● รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อพนักงานดีเด่น
บริษัท โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด

● รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภคดีเด่น
บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด

● รางวัลธรรมาภิบาล ด้านการปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น
บริษัท สุราษฎร์อินเตอร์ทัวร์ จำกัด

กระบวนการพิจารณาคัดเลือก อย่างเข้มข้นและพิธีมอบรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นที่น่าภาคภูมิใจ นับเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตัวอย่าง ให้สังคมได้รับรู้และสนับสนุน เป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจขนาดย่อมทุกสาขาอาชีพ จะได้พัฒนาความเก่งและดีให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน


ข้อคิด...

การจัดตั้ง ”สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์” เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆในการสืบสานปณิธาน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชนบท และพัฒนาเมืองของอาจารย์ป๋วย ซึ่งเป็นแบบอย่างของบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติ และอุทิศชีวิตให้กับการทำงานที่มีคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยหลัก ”ธรรมาภิบาล” (Good Governance ) ตั้งแต่คำๆนี้ยังไม่เป็นกระแสโลกอย่างในปัจจุบันด้วยซ้ำ

การมีเกณฑ์ประเมิน เพื่อมอบรางวัล”ธรรมาภิบาลดีเด่น”ให้กับวงการธุรกิจ เป็นประจำทุกปี น่าจะมีส่วนส่งเสริมให้คนในสังคมธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เห็นแบบอย่างที่ดี แล้วเกิดความคิดขยายผลการพัฒนา”ธรรมาภิบาล”ในองค์กรต่างๆให้สูงยิ่งขึ้นทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม


suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น