ในคลิปการ์ตูนให้ความรู้เรื่องไฟป่า สาเหตุของไฟป่า และความเชื่อมโยงกับปัญหาPM2.5 ในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากชุมชนในตำบลก้อและอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จัดทำโดยนิสิตหลักสูตรเคมีประยุกต์ ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจากWorcester Polytechnic Insititute
เมื่อเร็วๆ นี้ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอโครงการการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเกิดไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน คว้ารางวัล “Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2022” ประเภทโครงการนักเรียน นิสิต นักศึกษา มาครอง
พงศ์วิวัฒน์ กู่กิจวัฒนา ปฏิภาณ สุวรรณกิจยินดี ศุภณัฐ สุทธิศิริกุล และณัฐภัทร์ เพียรอานุภาพ นิสิตภาควิชาเคมีที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เปิดเผยว่ารางวัลดังกล่าวจัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กร บุคคลทั่วไป รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สร้างประโยชน์แก่สังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ โครงการนี้นำเสนอแนวทางในการสร้างความเข้าใจแก่เยาวชนให้เห็นความสำคัญของการควบคุมและป้องกันไฟป่า ตลอดจนเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันของชุมชนและป่าอย่างยั่งยืน
จุดเริ่มต้นจากรายวิชา สู่โครงการรักษ์โลก
พงศ์วิวัฒน์ กู่กิจวัฒนา ตัวแทนนิสิตในทีมที่ได้รับรางวัล เผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเกิดไฟป่าในโครงการนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา Interactive Science and Social Projects ของหลักสูตรเคมีประยุกต์ที่เปิดโอกาสให้นิสิตทุกคนได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร และนักศึกษาจาก Worcester Polytechnic Institute สหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ในการเรียนรู้ปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดฝุ่น PM2.5 และปัญหาสุขภาพของชุมชนในภาคเหนือของไทย
ปัญหาฝุ่น PM2.5 และไฟป่า สำคัญอย่างไร
ฝุ่น PM2.5 และไฟป่าเป็นปัญหาที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ชาวบ้าน และชุมชนมายาวนาน การเกิดฝุ่น PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการภูมิแพ้ แสบตา หอบหืด รวมถึงมะเร็งปอด และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่อาจก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกปัญหา การเกิดไฟป่ายังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้ โครงการนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการไขข้อข้องใจเพื่อการแก้ปัญหาการลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
“จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่ายังมีชาวบ้านที่เก็บเห็ดและของป่ากันอยู่ โดยมีความเชื่อว่าการเผาป่าจะช่วยทำให้เห็ดเจริญเติบโตและเก็บง่ายขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดและเป็นจุดที่เราอยากแก้ไข” พงศ์วิวัฒน์ กล่าว
ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ
จากการได้ลงพื้นที่ทำใหีได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความคิดของชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนได้นำเสนอแนวทางในการสร้างความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการป้องกันและควบคุมไฟป่าให้แก่เด็กและเยาวชนในรูปแบบของสื่อวิดีโอให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่จากการเกิดไฟป่า เพื่อเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันของชุมชนและป่าอย่างยั่งยืน
จุดเด่นของโครงการตอบโจทย์ปัญหาได้จริง
โครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อตามที่สหประชาชาติกำหนดขึ้น ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการปลูกฝังให้ความรู้ในเรื่องนี้ควรเริ่มต้นที่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม โครงการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่ามีการออกแบบที่ให้ความรู้ผ่านสื่อที่เข้าใจง่าย สะท้อนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างครบถ้วน เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย นำเสนอผ่านในรูปคลิปวีดิโอ “ไฟป่ากับ PM2.5 .ในประเทศไทย” ผ่านสื่อ YouTube ที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ
ความรู้และประสบการณ์ที่นิสิตสามารถนำไปต่อยอดได้
ผลจากโครงการนี้ นิสิตทั้งในทีมได้ส่งต่อข้อมูลความรู้สู่รุ่นน้องในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อนำไปสานต่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวบ้านในเรื่องแนวทางการประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนเผาป่า เช่น การทำผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป การปลูกผืชผักที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดิน และสภาพแวดล้อมทางภาคเหนือ โดยมุ่งเน้นการให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“พวกเราได้ความรู้และประสบการณ์จากการได้ลงพื้นที่จริง ทำให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง จึงสามารถนำไปวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด และหวังว่าโครงการของเราจะเป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่เสี่ยงไฟป่าหลายๆ แห่ง เพื่อลดปัญา PM2.5” พงศ์วิวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถส่งต่อความรู้ดีๆ ในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าโดยการรับชมและแชร์คลิปวีดิโอ "ไฟป่ากับ PM2.5 ในประเทศไทย" ที่น้องๆ นิสิตตั้งใจทำขึ้นได้ที่ Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=_rH6nc7IWxc