xs
xsm
sm
md
lg

สวนป่าเศรษฐกิจ : วิธีกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด / วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตอนที่สื่อมวลชนถามคุณวราวุธ ศิลปอาชา เมื่อตอนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆว่ามีนโยบายจะแก้ปัญหาโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงยังไง

คุณท็อป ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า ‘’ปลูกต้นไม้ให้เยอะขึ้น’’

ผมติดตามเรื่องโลกร้อนมาพอประมาณ นึกตามคำตอบก็เห็นพ้องด้วยเพราะต้นไม้นี่แหละตอบโจทย์ได้สารพัด และจะปลูกที่ไหนก็ปลูกเถอะ ขอให้ไม้รอด ยิ่งต้นไม้ใหญ่ยิ่งดี


หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของวุฒิสภาได้เชิญหน่วยราชการ3หน่วย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อมาชี้แจงข้อมูลอัตราภาษีที่ดิน ที่ทางราชการกำหนดให้ผู้ปลูกพืช ชนิดให้เนื้อไม้ต้องปลูกครบ 100 ต้นต่อไร่ ทุกครั้งที่ประเมินการใช้ประโยชน์ จึงจะถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินประเภทใช้เพื่อเกษตรกรรม

แล้วถึงจะได้รับการประเมินภาษีที่ดินในอัตราต่ำสุด เหมือนกรณีปลูกไม้ผล บางชนิดที่ปลูกเพียง 25 ต้นก็ใช้ได้แล้วนั้น
น่าจะไม่สอดคล้องกับความรู้ที่ผู้ชำนาญการด้านสวนป่า กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้เรียนรู้มานานแล้วว่า
แม้ตอนลงกล้าไม้ใหม่ๆนั้นจะลงสัก100ต้นต่อไร่ ก็ต้องมีการตัดสาง และตัดฟันเอาต้นไม้ที่โตขึ้นส่วนหนึ่งออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ต้นไม้ที่กำลังโตขึ้นนั้น อ้วนขึ้น และแกนไม้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น

สูตรคือตัดฟันออกเมื่ออายุต้นไม้ถึง 10 ถึง 15 และถึง 22 ปีสำหรับกลุ่มไม้โตช้า ในไม้มีค่าบางชนิด

และถ้าเป็นไม้โตเร็วยิ่งมีรอบตัดสางตัดฟันถี่กว่าและเร็วกว่า

ไม่ใช่ปล่อยให้ต้นไม้แข่งกันโย่ง เพื่อแย่งแสงแดดกันเองจนต้นสูงผอม แต่เนื้อไม้แทบจะใช้แปรรูปไม่ค่อยได้นั้น

ข้อสังเกตนี้ผมได้รับมาจากพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภานี่เอง

เพราะท่านเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอยู่หลายปี จึงมีความรู้ที่จะสังเกตเห็นอะไรแบบนี้ได้รวดเร็ว

ผมจึงจำข้อสังเกตนี้มาศึกษาในคณะอนุกรรมาธิการที่ผมเป็นประธานต่อ และเชิญหน่วยราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
ในการประชุมแบบออนไลน์กันในปลายปีที่แล้วกับคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผู้แทนหน่วยราชการทั้งสามต่างเห็นว่าข้อสังเกตนี้ท่าจะมีมูล จึงขอรับกลับไปประชุมหาทางแลกเปลี่ยนของฝ่ายบริหารกันเองต่อไป

ในที่สุด ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ของกระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไปประชุมร่วมกันจนกระทั่งได้ข้อสรุปก่อนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของปี 2565

โดยเห็นตรงกันว่า สมควรเสนอให้ปรับอัตราภาษีที่ดินเรื่องนี้ใหม่ เป็นเหลือเพียง ปลูกไม้เศรษฐกิจชนิดใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ สัก30ต้นเป็นอย่างน้อยก็เพียงพอ ไม่ต้องบังคับว่าต้อง 100 ต้น แต่ใครจะปลูกถี่กว่านี้ก็ได้ ไม่ว่ากัน

ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะเป็นการนำเสนอขึ้นให้ผู้มีอำนาจพิจารณาก่อนออกเป็นประกาศต่อไป

นับเป็นข่าวดีอีกชิ้นสำหรับการใช้ทรัพยากรที่ดินของเจ้าของที่ดินทั้งหลายอย่างมีนัยยะสำคัญ

เพราะการปลูกไม้ยืนต้นชนิดให้เนื้อไม้นั้น เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทุกทอด และยั่งยืน

เป็นการปลูกทองคำเขียว ที่จะตกทอดผ่านรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกหลานได้ แบบดีกว่าอัตราดอกเบี้ย เพราะยิ่งไม้โต ราคาก็ยิ่งแพง อย่างที่ท่านสว.คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เคยอภิปรายในสภาและเขียนหนังสือเรื่องนี้ไว้แจกจ่าย

ไม้มีค่าเหล่านั้น ไม่ตัดก็มีประโยชน์ ที่ดินนั้นจะมีมูลค่าเพิ่ม แม้ภายหลังตัดมาขายก็มีราคา ดีกว่าที่เจ้าของที่ดินจะมัวหาทางลดอัตราภาษีที่ดินของตัวด้วยการไปแค่นปลูกกล้วย ปลูกมะนาว แบบปลูกไปโดยไม่หวังเก็บผลด้วยซ้ำ

คือปลูกไปเป็นพิธียังงั้นเอง พอชำระภาษีในอัตราต่ำสุดเสร็จก็ปล่อยหญ้าขึ้นรกเหมือนเดิม รอใกล้ช่วงประเมินภาษีที่ดินรอบใหม่ก็ค่อยมาถางหญ้า ลงกล้าไม้แซมต้นที่เฉาตายไปให้ครบตามจำนวนที่กฏหมายกำหนด เพื่อจะได้เสียภาษีอัตราต่ำสุดไปอีกปี

ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร นอกจากตาเจ้าของที่ดินแปลงนั้นเหมือนเดิม แบบนี้ คงไม่สมเจตนารมย์ของกฏหมายภาษีที่ดินแน่

เพราะกฏหมายภาษีที่ดินนั้น ตราออกมาเพื่อบีบให้เจ้าของที่ดินไม่ครอบครองกว้านเก็บที่ดินไว้รอให้ราคาที่ดินขึ้นเฉยๆ และกฏหมายไม่ประสงค์ให้ประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่มีที่ดินทำกินเบียดเสียดกันอยู่ในสังคมไปวันๆ

เจตนาของนโยบายคือถ้าภาษีที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรมมีอัตราถูกหน่อย คือถูกกว่าที่ดินที่ใช้เพื่อการค้า หรือที่ดินที่ปล่อยรกร้างไม่ใช้ประโยชน์ใด เจ้าของก็คงจะยอมเอาที่ดินมาพัฒนาเพาะปลูกเอง หรือจ้างชาวบ้านมาปลูกในสิ่งที่ตัวอยากปลูก หรือให้ชาวบ้านเช่าไปใช้เพาะปลูกก็ยังดี

แต่ไม่ใช่แค่ให้เอากล้วยเอามะนาวมาปักๆปลูกๆ พอเป็นพิธีอย่างที่เห็นกันอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งถ้าให้เจ้าของที่ดินปลูกไม้ยืนต้นได้ ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์โดยรวมจากการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ต้นไม้ใหญ่ช่วยให้ดินมีความชื้นอยู่นาน การคายน้ำของไม้ใหญ่ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ และลดอุณหภูมิรอบข้าง ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาและให้ที่อาศัยแก่สัตว์ต่างๆ แถมเนื้อไม้ที่ได้ก็เป็นสินค้าที่โลกต้องการ ให้ราคาดี และมีมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินที่ปลูกด้วย

ยิ่งถ้าที่ดินที่ปลูกหมู่ไม้ใหญ่นั้นอยู่ในเส้นทางหลากของน้ำ ป่าปลูกภาคประชาชนนี่แหละที่จะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วม ลดโอกาสเกิดภัยแล้งรุนแรง ลดการถูกชะหน้าดินเมื่อฝนตกไหลบ่า ลดการปลูกพืชไร่ที่มักต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ลดการถากถางรุกป่าเพียงเพื่อจะปราบที่ดินให้โล่งเพื่อปลูกพืชไร่อาหารปศุสัตว์ที่ได้ราคาต่ำ อันนับเป็นการใช้ทรัพยากรที่ดินอันมีอยู่จำกัดอย่างไม่ยั่งยืนด้วย


ในขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ยังได้ต่อยอดจากเรื่องราวข้างต้นด้วยการ เสนอขยายเพิ่มรายชื่อชนิดไม้ที่จะปลูกตามพระราชบัญญัติสวนป่าเพิ่มให้อีก 29 ชนิด เพื่อเปิดช่องให้เอกชนสามารถรับการสนับสนุนคุ้มครองและรับรองไม้ว่ามาจากป่าปลูก ไม่ใช่ไม้ที่ไม่อาจระบุที่มา ซึ่งตลาดจะตั้งแง่สงสัยว่าได้ไม้มาจากไหนกันแน่ แถมการปลูกป่าเศรษฐกิจช่วยลดภาวะโลกร้อนได้กว้างขึ้นอีก
และเพราะกรมป่าไม้บอกว่าถ้าให้กรมทำอยู่หน่วยเดียว มีคนจำนวนน้อยแค่นี้ ไม่มีทางบรรลุเป้าหมายของชาติแน่

และถ้าให้งบให้คนมาทำอย่างที่ผ่านๆมา กว่าจะครบตามเป้าหมายที่ไทยตั้งใจไว้ว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ถึง 55%ของพื้นที่ประเทศ คงต้องใช้เวลาราวๆ 400ปี!!

กรมป่าไม้จึงยินดีจะทำงานร่วมกับ และสนับสนุนให้ออป.หรือองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้สามารถรองรับการทำบทบาทนำพาประชาชนปลูกป่าเศรษฐกิจ ให้ได้อย่างกว้างขวางต่อไปอย่างรวดเร็วด้วย

ทีมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ยังปรารภให้ฟังว่า อีกระยะหนึ่งหลังจากนั้น ก็คิดจะยกเลิกรายชื่อชนิดไม้ที่จะกำหนดสำหรับเข้าตามกฏหมายสวนป่าไปเสียเลย เพื่อสนับสนุนอิสระแก่การพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพที่ผู้ปลูกอาจจะค้นเจอหรือสรรสร้างได้อีก

ผมจึงต้องขอชื่นชมดังๆในการนี้เลยครับ คือกรมเห็นอนาคต และกล้าลดอำนาจตัวเองลง ไม่หวงไว้

รวมทั้งกรมป่าไม้ยังได้ปรารภเพิ่มว่าเพื่อลดความเคร่งครัดเกินเหตุที่กฏหมายสวนป่ามีอยู่ ทั้งๆที่ที่ตราขึ้นเพื่อส่งเสริมประชาชนให้หันมาปลูกสวนป่า และสร้างอาชีพปลูกป่าให้ประชาชน แต่การที่พระราชบัญญัติสวนป่าปัจจุบันยังมีมาตราที่กำหนดโทษทางอาญาต่อประชาชน จึงน่าจะเป็นเรื่องย้อนแย้งกัน และเป็นการใช้โทษทางอาญาอย่างไม่น่าจะจำเป็น

กรมป่าไม้จึงปรารภกับคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ว่าอยากหาทางแก้ไขกฏหมายเรื่องโทษทางอาญานี้เสียด้วยเลย

ผมในฐานะอดีตกรรมการพัฒนากฏหมายของกฤษฎีกาฟังแล้วยิ่งดีใจใหญ่ เพราะเราอยากให้ข้าราชการมองเห็นมุมอย่างนี้นี่แหละ




บังเอิญผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ของรัฐสภาพอดี

จึงได้ให้ข้อมูลแก่ทีมเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ในเรื่องนี้ว่า อาจใช้ประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้ เพราะร่างกฏหมายการปรับเป็นพินัยนี้ จะลดรูป ของโทษปรับทางอาญาลงให้เหลือเพียงการชำระเงินปรับเป็นพินัยให้รัฐแทนการปรับทางอาญาได้

ประชาชนที่เข้าสู่กฏหมายสวนป่าแม้ทำพลาดอะไรไป ก็จะไม่ต้องถูกบันทึกว่ามีประวัติอาชญากรรมให้เสียชื่อเปล่าๆ
ยิ่งถ้าผู้ทำผิดพลาดไปเป็นคนยากจนเหลือทนทาน ร่างกฏหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยยังให้อำนาจศาลที่จะลดอัตราค่าปรับเป็นพินัยลงเพียงใดก็ได้ หรือจะให้ผ่อนชำระเป็นงวดเป็นคราวก็ได้ หรือจะให้จำเลยไปทำงานบริการสาธารณะหรือไปทำงานบริการสังคมแทนการชำระค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ด้วย

นี่ไงครับ เมื่อหน่วยงานและข้าราชการประจำที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละมาตราของกฏหมายที่มีอยู่มากมายหลายพระราชบัญญัติ มาจากหลายกระทรวง มาจากหลายกรม ร่วมทำงาน รับฟังกันอย่างตั้งใจ ประชาชนคนร่วมฟังการประชุมย่อมชื่นใจ

ในกรณีนี้ยังมีข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ยังมีใจและมีความรู้ในเรื่องนี้มาร่วมด้วยช่วยสนับสนุนประสบการณ์ในการติดตามเรื่องนี้ อย่างอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้หญิง คุณเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์มาร่วมในอนุกรรมาธิการอีกแรง มีอดีตผู้อำนวยการออป.คุณพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์มาร่วมยืนยันความคิดริเริ่ม ทุกฝ่ายรับฟังกันอย่างมีจุดหมายร่วม

เราคนร่วมประชุมก็อยากจำ และนำมาเล่าให้คนอ่านได้รู้ เพราะเชื่อว่าคนอ่านก็จะพลอยชื่นใจไปด้วย

บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา ,รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของวุฒิสภา





กำลังโหลดความคิดเห็น