โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต และมูลนิธิคุณ (KHUN Foundation)
มีการจัดกิจกรรมรณรงค์การลดขยะพลาสติกและการแยกขยะที่ถูกต้องผ่านการแสดงละครหุ่นเชิด (Puppet Show) และการเสวนาเรื่องบทบาทของเยาวชนในการลดพลาสติก ในพิธีปิดโครงการจัดการและลดพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจ จังหวัดภูเก็ต (Less Plastic Phuket) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับปัญหาขยะพลาสติก การที่ประชาชนต้องกักตัวในบ้านหรือที่พักของตนเอง ส่งผลให้เกิดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในแอพพลิเคชันและการสั่งอาหารจากบริการฟู้ดเดลิเวรี่และซื้ออาหารกลับบ้าน
พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เมื่อเวลาผ่านไป พลาสติกที่ถูกแสงแดด จะทำให้พลาสติกแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” และสามารถแทรกซึมลงไปในชั้นดิน แหล่งน้ำและปนเปื้อนลงในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่าย และหากเราไม่มีการกำจัดขยะพลาสติกเหล่านี้อย่างถูกต้อง จะส่งผลให้ขยะจากบกปะปนและลงสู่ทะเล และทำให้สัตว์ทะเลกินพลาสติกเข้าไป เกิดอาการป่วยและเสียชีวิตในที่สุด
นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ประธานมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต กล่าวว่า “ภูเก็ตในฐานะจังหวัดท่องเที่ยวก็ประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านยังเป็นตัวแปรในการกระตุ้นให้เกิดการใช้พลาสติกอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ตภายใต้เทศบาลนครภูเก็ต โดยการสนับสนุนจาก GIZ จึงได้นำร่อง “โครงการจัดการและลดพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจ จังหวัดภูเก็ต” ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งถึง 15,170 ชิ้นจากกิจกรรมสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ทดแทนและแอพพลิเคชันตามสั่ง-ตามส่ง การสนับสนุนกลุ่มอาสาสมัครและเครือข่ายเก็บขยะชายหาดและทะเล 8 กลุ่มทั่วจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเก็บขยะไปแล้วมากกว่า 3,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ในการสนับสนุนการเก็บขยะทะเลอีก 9 พื้นที่จาก 4 ชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามและป้องกันขยะพลาสติกลงสู่ทะเล”
นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “จากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภูเก็ตสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ด้วยความตระหนักของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนเอง ทำให้ภูเก็ตมีการขับเคลื่อนด้านการรณรงค์และมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ในระดับที่แต่ละฝ่ายสามารถทำได้ เช่น สำหรับภาครัฐ ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม โดยเน้นการลดและการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ยังได้กำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในขณะที่ภาคเอกชนและประชาชนนั้น มีการรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรมในระดับบุคคลอย่างการใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมาตรการและนโยบายที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีการผลักดันและร่วมกันทำงานอย่างเข้มข้น จริงจังและต่อเนื่องมาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และพวกเราเชื่อว่าการทำงานให้สำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในเรื่องการขับเคลื่อนภูเก็ตให้เป็นเมืองที่สะอาด เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป”
นายจูเซปเป บูซินี่ อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ตั้งแต่นโยบายการจัดการพลาสติกของสหภาพยุโรปถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2561 สหภาพยุโรปได้พยายามขับเคลื่อนที่จะจัดการกับปัญหามลพิษขยะพลาสติก โดยการจัดทำโครงการการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเยอรมนีเช่นกัน และเราได้เห็นคุณค่าของการบูรณาการระหว่างความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่เข้าสู่ระดับนโยบาย นอกจากนี้เรายังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโครงการใน 7 ประเทศภาคี รวมถึงระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียด้วย ผมมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อลดขยะพลาสติกภายในจังหวัดภูเก็ตตามที่ได้มีการร่างไว้ใน Roadmap ผมขอขอบพระคุณทั้งองค์กรต่างๆ และผู้ร่วมงานที่มีความกระตือรือร้นในการสนับสนุนโครงการนำร่องนี้”
ดร. แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยเน้นย้ำว่า “ปัญหามลภาวะของขยะพลาสติกในทะเลรวมถึงขยะประเภทอื่นๆ เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีถือว่าการเร่งหาทางออกถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการนำระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมาปรับใช้ นับเป็นสองแนวปฎิบัติที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเราได้จัดลำดับปัญหานี้ให้เป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งเยอรมนีและไทยได้มีความร่วมมือในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน”
“จากการนำร่องโครงการจัดการและลดพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจ จังหวัดภูเก็ต (Less Plastic Phuket) ส่งผลให้ความรู้และประสบการณ์ของคนในพื้นที่ได้ถูกนำเข้ามาใช้เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ทั้งยังเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ และจะยังมีการค้นหาพลาสติกทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” ดร. แบนท์ กล่าวเสริม
นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ กล่าวว่า “ทางมูลนิธิคุณ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง จึงเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะให้แก่เยาวชนไทย โดยเริ่มจากในโรงเรียน เพราะเยาวชน คือ กลุ่มเป้าหมายและเป็นกำลังสำคัญที่พร้อมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแยกขยะได้ดีที่สุด โดยในวันงาน มูลนิธิคุณเลือกใช้ละครหุ่นเชิด (Puppet Show) ที่ชื่อ “DoDO ดูดู้ปลาวาฬน้อยท้องผูก” ที่มีผองเพื่อน เช่น กวาง ปลาดาว สุนัขจรและลุงนกฮูก มาแสดงสดให้น้องๆ เยาวชนและผู้เข้าร่วมงานช่วยกันค้นหาความจริงว่าทำไมดูดู้ปลาวาฬน้อยถึงท้องผูก และจะช่วยดูดู้ได้อย่างไร พร้อมกันนี้ มูลนิธิคุณได้จัดทำสื่อการสอนที่ชื่อ “DoDo & Friends” ที่ตรงกับแนวทางของ ”โครงการจัดการและลดพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจจังหวัดภูเก็ต” ที่ต้องการลดขยะในทะเล และสอนให้เยาวชนตระหนักถึงอันตรายของไมโครพลาสติกแบบเข้าใจง่าย เพื่อนำความรู้กระจายไปตามโรงเรียนต่างๆ ในภูเก็ตและตามสื่อโซเชี่ยล เรื่องราวของปลาวาฬน้อยจะช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาและได้รับความสนุกควบคู่ไปกับความรู้ในการแยกขยะประเภทต่างๆ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้เชิญคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา ที่มีจิตอาสามาร่วมงานในวันนี้ โดยคุณก้องดีใจที่มีหน่วยงานต่างๆ มารวมตัวกันในงานนี้ เพราะที่ผ่านมาคุณก้องสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิคุณมาโดยตลอด ทั้งช่วยผลิตสื่อเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกและการแยกขยะให้ถูกวิธี ร่วมกิจกรรมการปั่นจักรยานเพื่อลดฝุ่นและเสริมสร้างสุขภาพ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย”
นอกเหนือจากการแสดงละครหุ่นเชิด ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้แก่เยาวชนในการแยกขยะ 3R (Reduce ลดการใช้, Reuse เพิ่มการใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้) แล้ว โครงการฯ ยังจัดให้มีการเสวนาเรื่องบทบาทของเยาวชนในการลดพลาสติก โดยมีโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ โรงเรียนอบจ.บ้านนาบอน โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ตและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ชมรม FOTEC) ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นของเยาวชนรุ่นใหม่ในเรื่องการลดพลาสติกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการมอบเกียรติบัตรให้กับทางหน่วยงานราชการและกลุ่มเครือข่ายที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ และตบท้ายด้วยมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง คุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา มาช่วยสร้างความบันเทิงและชักชวนเยาวชนให้หันมาร่วมใจลดขยะพลาสติกและคัดแยกขยะที่ถูกต้องอีกด้วย
โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ดำเนินงานโดย GIZ และ Expertise France (EF) ยังสนับสนุนโครงการนำร่องกว่า 20 โครงการใน 5 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนการลดขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล จากเรือพาณิชย์และเรือประมงในประเทศจีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม ประสบการณ์และบทเรียนของโครงการนำร่อง จะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านนโยบายในอนาคต