จากการนำร่องติดตั้งกล้องดักถ่ายป่าห้วยขาแข้ง 9 จุด ทำการสำรวจจำนวนประชากร ‘ควายป่า’ จำแนกเพศ และวัย เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ในเบื้องต้นประเมินจำนวนได้ราว 45 ตัวเท่านั้น
ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กลุ่มงานวิชาการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้มีการนำข้อสรุปจากการประชุมไปสู่การปฏิบัติคือ “การทดลองติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า” เพื่อนำร่องหาแนวทางการสำรวจนับจำนวนประชากรควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยใช้กล้องดักถ่ายอัตโนมัติซึ่งได้มีการติดตั้งไปเมื่อวันที่ 8-10 มีนาคม 2565
โดยมี นายสันต์ภพ อัศวประภาพงศ์ผู้ช่วยหัวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นำทีมเจ้าหน้าที่เดินเลาะลำห้วยขาแข้งเพื่อติดตั้งกล้องจำนวน 9 จุด แล้วย้อนกลับเข้าไปตรวจสอบภาพที่กล้องบันทึกไว้ พบว่ากล้องทุกจุดทำงานได้ดีและมีควายป่าเดินผ่านกล้องทุกจุด โดยฝูงใหญ่สุดที่พบ คือ 10 ตัว แต่ค่าเฉลี่ยที่ผ่านกล้องคือฝูงละประมาณ 4-5 ตัว จากภาพถ่ายที่ได้ในเบื้องต้นสามารถประเมินจำนวนประชากรควายป่าได้ราว 45 ตัว จากทั้ง 9 จุดที่ติดตั้งกล้อง ทั้งนี้ภาพที่ได้มาทั้งหมดจะนำไปสู่การเรียนรู้ในการจำแนกเพศ และวัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ นายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีสัตว์ป่ามากมายหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งสามารถทำการศึกษาวิจัยได้ และสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม แต่ควายป่าซึ่งเหลือเพียงฝูงเดียวในไทย ที่อยู่ในป่าห้วยขาแข้ง ยังไม่มีการนำมาศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง จึงเห็นว่าการติดตั้งกล้องดักถ่ายอัตโนมัติในครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาวิจัยควายป่า ว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรควายป่าได้อย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่องานด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป
#รู้จัก...มหิงสา ควายป่า ฝูงสุดท้ายที่ห้วยขาแข้ง และความแตกต่างกับควายบ้านที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=344081834430324&id=100064855293851