xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วนะ! ปรับลดนม เพิ่มหญ้า ขยับเข้าป่า “ทับเสลา” ลูกช้างป่าพลัดหลงที่คนเลี้ยงบนดอยผาเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหลา ชื่อที่เรียก พังน้อยทับเสลา
“พังทับเสลา” ที่เรียกติดปากกันในกลุ่มเอฟซีว่า “เหลา” ลูกช้างป่าพลัดหลงจากผืนป่าห้วยขาแข้งซึ่งต่อมาเดินทางไกลมาอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เมื่อตอนปลายปี 2563 (14 พ.ย.2563) เพื่อมาหาแม่รับ (แม่วาเลนไทน์) ตามแผนของอุทยานแห่งชาติที่ต้องการให้ลูกช้างกลับไปมีวิถีชีวิตตามธรรมชาติในผืนป่ามากกว่า

นานกว่า 2 ปี ตั้งแต่พลัดหลงโขลงแม่ แล้วสร้างเรื่องดรามาอยู่มากมาย “เมื่อเหลาไม่ยอมกลับเข้าโขลง ถึงโขลงมาตามก็ไม่กลับ” เหลาเลือกแล้วขออยู่กับคนเลี้ยง แล้วก็ชอบนมขวดที่ป้อนให้ทุกวันเสียด้วย

แม้กระทั่งการเข้าหาแม่รับ (หลายแม่รับที่นำมาทดลองให้ใช้ชีวิตร่วม จนล่าสุดมีแม่รับตัวถาวรชื่อว่า แม่วาเลนไทน์) ซึ่งทำให้คนจำนวนมากเข้ามาติดตามจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าเรื่องราวของเหลา ชักชวนให้คนหันมาใส่ใจ และตระหนักถึงการอนุรักษ์ช้างป่ามากขึ้น นั่นส่งผลต่อการใส่ใจดูแลป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ ด้วย

แม้กระทั่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ในพื้นที่ 690.39 ตร.กม. (431,495.77 ไร่) ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอําเภอแม่ทา อําเภอบ้านโฮ่ง อําเภอทุ่งหัวช้าง อําเภอลี (จังหวัดลําพูน) และอําเภอห้างฉัตร (จังหวัดลําปาง) ก็กลายเป็นสถานที่ที่คนรู้จักมากขึ้น

ตอนนี้ยังไม่หย่านม แต่ก็กินหญ้ามากขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันก่อน (31 มีนาคม 2565) เป็นวันแรกของการปรับลดนม (นมขวด) ให้กับเหลา เพื่อเตรียมการสอบผ่านไปยังชั้นต่อไป จาก 12 ลิตร ลดลงเหลือ 10 ลิตร (กลางวัน 6 กลางคืน 4) และให้หญ้า 200 กก. กลางวัน 100 กลางคืน 100)

แอดมินเพจเฟซบุ๊ค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง โพสต์ไว้ว่า “สักวันหนึ่ง เหลาต้องโต เป็นช้างตัวใหญ่ในป่าดอยผาเมือง ลดนม เพิ่มหญ้า ขยับเข้าป่า ประเมินพฤติกรรม อันนี้คือแนวทางปฏิบัติในการปรับพฤติกรรมทับเสลาค่ะ”

ให้กินหญ้า และขยับเข้าป่ามากขึ้น

ใบไม้ก็กินเป็นแล้วนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น