xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ชูงานวิจัยมูลค่าแบรนด์องค์กร ตัวอย่างนวัตกรรมสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชูนโยบายขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่ “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนระดับโลก” เพิ่มศักยภาพการเรียนการสอน การบริหารจัดการ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

นอกจากโครงการสำคัญของจุฬาฯ ที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น วัคซีนโควิด-19 สุนัขดมกลิ่นโควิด-19 หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และ Start-up จำนวนมากแล้ว โครงการวิจัยหนึ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งในทางบริหารธุรกิจ คือ การวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรทั่วทั้งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 13 ปี ทำให้องค์กรจำนวนมากเห็นความสำคัญของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ถืออยู่ว่ามีมูลค่าสูงได้ถึงหลายแสนแสนล้านบาท และเกิดการตระหนักในวงกว้างถึงการพัฒนาแบรนด์องค์กร

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของจุฬาฯ ที่ได้ดำเนินนโยบายและพัฒนาตามเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ

งานวิจัยเรื่อง Asean and Thailand’s Top Corporate Brands ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ และผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล แห่งภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นงานวิจัยตัวอย่างที่สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างสูง และสอดคล้องกับ SDG 8 ที่ครอบคลุมไปถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจธุรกิจ

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมางานวิจัยดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นจนสามารถวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรในตลาดหลักทรัพย์ได้ทั่วทั้งภูมิภาคและได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้จัดการออนไลน์มอบเป็นรางวัลสำคัญที่ผู้บริหารในองค์กรสำคัญจับตามอง และสร้างให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของมูลค่าแบรนด์องค์กรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ขององค์กรธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ความตระหนักในความสำคัญของแบรนด์องค์กรนำมาซึ่งความเข้าใจธุรกิจที่รุดหน้าไปอีกระดับหนึ่งและสามารถสร้างความโดดเด่นในการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในเวทีระดับโลกได้อย่างสมภาคภูมิ

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่าสัญลักษณ์ที่สำคัญของความสำเร็จของงานวิจัยเรื่องการวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรนี้คือการที่ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรทั่วทั้งภูมิภาคเดินทางมาร่วมกิจกรรมและรับรางวัลด้วยตัวเอง ซึ่งในปีที่ผ่านมางานดังกล่าวจัดขึ้นที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่จุฬาฯ ที่ได้ต้อนรับบุคคลสำคัญของแวดวงธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม

ในทางวิชาการนั้นงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านเศรษฐศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของงานวิจัยได้เป็นอย่างดี และแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่างานวิจัยที่มีคุณภาพทางสังคมศาสตร์ของจุฬาฯ นั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง


อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงปัจจัยหลักที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในด้านการพัฒนางานวิจัยเพื่อความยั่งยืนว่า มหาวิทยาลัยดำเนินการผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญของจุฬาฯ ได้แก่ การสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Future Leaders) การสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรมที่มีประโยชน์สูงเพื่อสังคม (Impactful Research and Innovation) และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยประสานการทำงานร่วมกันตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะ หน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมให้คณาจารย์และนิสิตสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมจุฬาฯ ที่มีความโดดเด่นและส่งผลกระทบสูงต่อสังคมไทย รวมทั้งมีผลกระทบสูงในระดับโลก (Impact Content)

การพัฒนายุทธศาสตร์ที่ชัดเจนตลอดจนการสานพลังของคณาจารย์และนิสิตจุฬาฯในการสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูงต่อสังคมไทยและสังคมโลกดังเช่นที่ปรากฏในงาน Asean and Thailand’s Top Corporate Brands ส่งผลให้จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืนแก่สังคมสูงสุดอันดับ 1 ของเอเชีย อันดับ 23 ของโลก จากTHE Impact Rankings เมื่อปี 2021 ซึ่งถือเป็นอันดับที่สูงที่สุดที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับ สะท้อนถึงคุณภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ SDGs ยังช่วยยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลมากขึ้น อีกด้วย

“จุฬาฯ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมผลงานวิจัยนวัตกรรมและโครงการต่างๆ ของจุฬาฯ ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในเว็บไซต์  http://www.sustainability.chula.ac.th/ ซึ่งประชาคมจุฬาฯ และผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพื่อติดตามผลงานความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของจุฬาฯ ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น