การขับเคลื่อนและการดําเนินการตามยุทธศาสตรชาติ ด้านความมั่นคงและแผนแม่บทฯ ประเด็นความมั่นคงในระหว่างปี พ.ศ.2561- 2564 จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและการเชื่อมโยง เครือข่าย เพราะด้วยเหตุว่าประเทศเรามีทรัพยากรจํากัด การคิดแยกส่วน ต่างคนต่างทําไม่อาจเกิดความสําเร็จที่จะนําไปสู่ความยั่งยืนได้
หลักคิดที่จะช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่ “ดีกว่าเดิม เร็วกว่าเดิมและมีต้นทุนกูกว่า” ภายใต้ “คน ระบบ และเทคโนโลยี” จะเห็นได้ว่าการใช้เทคโนโลยีจำเป็นต้องมีการคํานึงถึงคนและระบบ ซึ่งสาระสําคัญคือ “การฟังเสียงคนรุ่นใหม่”
คนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงวัยแต่หมายถึงความคิดที่จะสอดประสานไม่ให้เกิดช่องว่างทั้งความขัดแย้ง อันมาจากค่านิยมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัญหาสังคมในทุกวันนี้ เรามีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์ความต้องการ พฤติกรรม การแก้ไขปัญหาและการสื่อสาร โดยปัญหาที่พบทุกวันนี้ประการหนึ่ง คือการทําโครงการตาม ความสามารถของบุคลากรในองค์การแทนที่การนํายุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง เป้าหมายจึงเป็นไปตามที่องค์การมีขีดความสามารถ การพัฒนาประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติตามกรอบเวลาที่กําหนดจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะคนในชาติไม่เชื่อมั่นเพราะไม่เข้าใจ อีกทั้งหน่วยงานขาดการบูรณาการอย่างร่วมคิดร่วมทำ
เทคโนโลยีก่อให้เกิดการแข่งขัน เนื่องจากการจัดระเบียบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเข้าใจนั้นจะสามารถสร้างการแข่งขันได้ และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตเป็นพลังความท้าทายใหม่ที่จะทําให้มนุษย์มองเห็นอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม โดยเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้หากเข้าใจว่า “เพื่ออะไร ?” การพัฒนา เทคโนโลยีเกิดขึ้นได้หากเราได้วางระบบที่ดี
เราจะใช้เทคโนโลยีในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือในฐานะผู้สร้าง
การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องเป็นกลไกหลักมุ่งสนับสนุนเทคโนโลยีจากคนไทย รายงานจากนายกสมาคมโดรนเกษตร ประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งใหม่จากผล Disruptive Technology กล่าวว่าประเทศอินเดียห้ามนําเข้าโดรนจากต่างประเทศ ให้พัฒนาโดรนภายในประเทศเท่านั้น ประเทศไทยมีการส่งเสริมเทคโนโลยี สตาร์ทอัพแต่ไม่มีแนวทางสเปคการจัดซื้อจัดจ้างมาก่อน จึงจำเป็นต้องคํานึงถึงความยั่งยืนในทางยุทธศาสตร์ของประเทศมากกว่าในระยะสั้น การจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้กําหนดให้ผู้เสนอราคาได้แสดงให้เห็นถึงการดําเนินการเพื่อความยั่งยืน เช่น กระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของบริษัทที่ทําสัญญากับภาครัฐในมูลค่าที่สูง การใช้ดิจิทัลเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส อันจะนําไปสู่ธรรมาภิบาล เป็นต้น
การพัฒนาประเทศโดยใช้เทคโนโลยีจําเป็นต้องเริ่มต้ังแต่การสร้างคน เมื่อสร้างแล้วต้องดําเนินการต่อเนื่องไม่ให้หยุดและขาดตอน ต้องส่งเสริมสู่ปลายน้ำให้เกิดความร่วมมือ จะไม่สูญเปล่าในการพัฒนา นักเรียน นิสิตและนักศึกษาที่ได้รับการบ่มเพาะในวันนี้จะไม่เหมือนเดิม การเรียนออนไลน์ต่อเนื่องกว่าสองปี ย่อมกระทบต่อคุณภาพบุคลากรในอนาคตและวิถีชีวิตในโลกการทํางาน การสร้างคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตจะต้องไม่สูญเปล่า
การใช้เทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องคํานึงถึงความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นนักพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ต้องคํานึงถึงความเหลื่อมล้ำสัมพันธ์กับความยั่งยืนเป็นประการแรกเมื่อกำหนดแนวทางระดับอุดมการณ์ ต้องเข้าใจถึง SDGs โดยเฉพาะในคําที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
เทคโนโลยีในอนาคตจะตอบสนองอย่างจําเพาะเจาะจงกับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ที่มีบริบทของพื้นที่แตกต่างกันตามภูมิประเทศ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อ การสร้าง Platform อย่างเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้จะทําให้ประชาชนปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้มาก ประชาชนจึงจะเห็นคุณค่าในยุทธศาสตร์ชาติว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุคสมัยของเราด้วยเทคโนโลยี
ดังนั้นในระดับนโยบายสิ่งที่สําคัญที่สุดคือจุดเริ่มต้น จึงจะกําหนดเป้าหมายได้ เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีสร้างพลังในการขับเคลื่อนตามเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง ทําเพื่อประชาชน มีการฟังเสียงของคนในท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ จึงจะมีโอกาสสําเร็จมากกว่าล้มเหลว
สุดท้ายนี้เมื่อเรารับรู้เทรนด์ในอีก 5 ปีข้างหน้าแล้ว เราจะสามารถขับเคลื่อนในวันนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยความพร้อมการใช้เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เพื่อความสุขและมองให้ไกลถึงสันติภาพของโลก ยุทธศาสตร์ในการสร้างคนด้วยการเริ่มต้นตั้งแต่ Growth Mindsets เอื้อมมือมาจับกัน (Collaboration) สอดประสานทุกอนูอย่างสมบูรณ์แบบ ตระหนักถึงภัยด้วยการร่วมป้องกัน ปลุกทัศนคติเชิงบวกให้แก่กันและกันในสังคม ให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อนําไปสู่ความยั่งยืน เป็นแก่นแท้รากฐานที่เราใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีและสามารถละวางเทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจตัวตน
บทความโดย ปณิธาน สืบนุการณ์
นักพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์