แม้สถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ไม่รุนแรงเหมือน 2 ปีก่อนหน้า แต่ รมว.ทส. วราวุธ ศิลปอาชา ก็ยังไม่นิ่งนอนใจ ได้กำชับให้หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังไฟป่า-หมอกควัน ตลอดช่วงเดือนมีนาคม จนถึงพฤษภาคม 2565 ที่จะเข้าฤดูฝน
ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา สั่งกำชับกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธ์พืช และกรมป่าไม้ ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ประสานจังหวัดในการบูรณาการการดำเนินงาน และประสานให้จังหวัดมีการกำกับดูแล ให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการเกิดจุดความร้อน PM2.5 และหมอกควันข้ามแดน
คพ.พบจุดความร้อนในปีนี้ลดลง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่ภาคเหนือ ปี 2565 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 มีนาคม 2565 เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,717 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5,316 จุด พื้นที่เกษตรและที่อื่นๆ 3,763 จุด รวมทั้งสิ้น 12,796 จุด
หากเปรียบเทียบสถานการณ์จุด Hotspot สะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปี 2563 ถึงปี 2565 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 8 มีนาคมของปี) ในปี 2563 เกิดขึ้น 25,770 จุด ปี 2564 เกิดขึ้น 17,289 จุด และปี 2565 เกิดขึ้น 3,717 จุด
ในส่วนของผลการลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) กรมป่าไม้ ดำเนินการพื้นที่ชิงเก็บได้จำนวน 11,261.50 ไร่ จัดเก็บเชื้อเพลิงได้จำนวนปริมาณ 708.24 ตัน ในส่วนของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำลังรวบรวมข้อมูล ทั้งนี้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติงานตามมาตรการอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง การจัดทำแนวกันไฟ การจัดชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าดับไฟ การดูแลสุขภาพประชาชน เป็นต้น
ประสานสำนักเลขาธิการเซียน แจ้งประเทศเพื่อนบ้าน
อธิบดี คพ. กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในปีนี้ ว่านับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เริ่มเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคตะวันออก และจะส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในอนาคต กรมควบคุมมลพิษได้ประสานและรายงานสถานการณ์ปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยไปยังสำนักเลขาธิการเซียน ในการขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการลดปัญหาการเผาในที่โล่งตามแบบฟอร์มของอาเซียน โดยมีการรายงานและแจ้งปัญหาหมอกควันข้ามแดน รวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง
ล่าสุดสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ประสานแจ้งเวียนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านทราบแล้วในวันที่ 5 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานคุณภาพอากาศ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ แอปพลิเคชัน Air4Thai