คืบหน้าอีก "โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ในถิ่นอาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ" โดยพาป๊อค (ตัวผู้) เเละมิ่ง (ตัวเมีย) เข้าสู่กรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.2565) โครงการฟื้นฟูประชากรพญาเเร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย โดยความร่วมมือของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์เเห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เเละมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตร ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์พญาแร้งนอกถิ่นอาศัย (สวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยง) ให้มีประชากรที่เพียงพอต่อการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งในถิ่นอาศัย ณ บริเวณผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง โดยพร้อมเปิดรับความร่วมมือต่างๆ จากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนด้วย
ทางโครงการคาดหวังว่ากรงขนาดใหญ่เเละสภาพเเวดล้อมตามธรรมชาติ จะฟื้นฟูป๊อคเเละมิ่งให้สามารถทำรังวางไข่ ให้กำเนิดพญาเเร้งรุ่นต่อๆ ไป เเละพากันโบยบินเหนือป่าเมืองไทยได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวดี พญาแร้งในกรงเลี้ยงออกไข่ ซึ่งจุดประกายความหวังในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งอีกครั้ง
เพจโครงการพญาแร้งคืนถิ่น โพสต์แจ้งข่าวดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์นครราชสีมาแจ้งมาว่า พญาแร้งในกรงเลี้ยง ชื่อแม่นุ้ยได้ออกไข่จำนวน 1 ฟอง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
ถึงแม้ในช่วงต้นปี 2564 ไม่ประสบความสำเร็จในการได้ลูกพญาแร้งเนื่องจากไม่พบเชื้อในไข่ ซึ่งเกิดจากการไม่ได้รับเชื้อของพญาแร้งเพศผู้ตั้งแต่ตอนต้น แต่ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในกระบวนการเลี้ยงพญาแร้งในกรงเลี้ยง
ทั้งนี้‘พญาแร้ง‘ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหนึ่งชนิดที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยไปแล้วเกือบ 30 ปี และหลงเหลืออยู่ในการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย (สวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยง) เพียง 5 ตัวเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
Clip Cr.:ไทยพีบีเอส