xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ชำแหละปัญหา “อหิวาต์หมู” แนะ 4 ทางออก หวั่นเกิดวิกฤต “ความมั่นคงด้านเนื้อสัตว์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอชำแหละ ปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย แนะ 4 ข้อเสนอ เร่งภาครัฐร่วมมือผู้เกี่ยวข้องใช้มาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันการระบาดซ้ำในพื้นที่เดิม หรือการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่นๆ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ และการกำหนดยุทธศาสตร์และเส้นทาง (road map) สู่การปลอดโรค หวั่นเกิดวิกฤติความมั่นคงด้านเนื้อสัตว์
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านศึกษาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ทีดีอาร์ไอ ศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดี คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุไรรัตน์ จันทรศิริ นักวิจัยอาวุโส นโยบายการกำกับดูแลที่ดี (Good Regulatory Policy) ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทความเรื่อง “ข้อเสนอ แนวทางการรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย” โดยกล่าวว่า ปลายปี 2562 พบข่าวการตายของสุกรในฟาร์มสุกรขนาดเล็กในจังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำรวกที่เป็นที่มาของการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรในพม่าทิ้งซากสุกรติดเชื้อลงในแม่น้ำ และฟาร์มสุกรไทยในบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่นำน้ำจากแม่น้ำมาใช้ จากนั้นไม่นานการแพร่ระบาดของโรค ASF จึงได้ขยายไปสู่แหล่งเลี้ยงสุกรสำคัญในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และลำพูน

เหตุที่ระยะแรกของการแพร่ระบาดไม่มีใครทราบข้อมูล เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกรตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ โดยบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้ร่วมกันลงขันจ่ายเงินชดเชยค่าทำลายสุกรให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-รายเล็ก ต่อมารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการชดเชยค่าสุกรที่ถูกทำลายเพราะติดโรค ASF และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันของกรมปศุสัตว์ทั้งหมด 3 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 996.9 ล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน 2562 ถึงกรกฎาคม 2564

แต่ปัญหาคือการควบคุมและป้องกันการระบาดของ ASF “แบบสมัครใจ” ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากเชื้อไวรัส ASF สามารถติดต่อได้ง่ายโดยอาศัยพาหะอย่างแมลงวัน คนงานในฟาร์มสุกร รถขนส่งสุกร และโรงฆ่าสัตว์ เมื่อไม่มีการใช้กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายและไม่มีการส่งตัวอย่างเลือดจากฟาร์มสุกรเข้าตรวจหาเชื้อ ผู้เลี้ยงบางรายจะรีบจำหน่ายสุกรที่เริ่มป่วยออกสู่ตลาด อีกทั้งรถบรรทุกขนส่งสุกร เนื้อสุกรและอาหารสัตว์ยังสามารถเดินทางไปทั่วประเทศ โรค ASF จึงเริ่มระบาดไปจังหวัดต่างๆ ในที่สุดช่วงต้นปี 2564 โรค ASF ก็ระบาดเข้าสู่จังหวัดในภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งเลี้ยงสุกรใหญ่ที่สุดของประเทศรวมถึงจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของฟาร์มสุกรขนาดใหญ่

ผลจากการระบาดทำให้จำนวนแม่สุกรลดลงมากกว่าครึ่งจากปี 2562 เหลือเพียง 4 – 5 แสนตัว ในปลายปี 2564 อีกทั้งฟาร์มจำนวนมากต้องหยุดการเลี้ยงสุกรโดยสิ้นเชิง มีการประมาณการว่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตของสุกรน่าจะมีมูลค่าขั้นต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ในปี 2564 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาเนื้อสุกรจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นมา สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค

แม้ว่าหลังจากมีข่าวการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีนไม่นาน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ในประเทศไทยตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวมาจากความร่วมมือของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และการวิจัยของอาจารย์ด้านสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่น่าเสียดายว่าแผนดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ดำเนินการใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยราชการ หรือแม้แต่นักวิชาการต่างกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลการระบาดของโรค AFS ในประเทศไทย

ขณะนี้การระบาดของโรค ASF ในสุกรของไทยอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว หากรัฐบาลไม่เร่งลงมือแก้ไขในที่สุดอุตสาหกรรมสุกรไทยจะล่มสลาย เหลือแต่ฟาร์มของบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายที่มีทั้งทรัพยากรและความรู้ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety and Biosecurity) คนไทยทั้งประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติความมั่นคงด้านเนื้อสัตว์

ข้อเสนอหลักจากการประชุมปรึกษาหารือเรื่องแนวทางแก้ไขควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากด้านต่างๆ อาทิ สัตวแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย เกษตรกรผู้เลี้ยง บริษัทเอกชน และนักวิจัยของทีดีอาร์ไอ รวม 24 คน เสนอว่า รัฐจำเป็นต้องมีนโยบาย “เปิดโรค”และ “กำหนดนโยบาย/มาตรการแก้ปัญหาโรค ASF” โดยเร่งด่วน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสุกรสามารถฟื้นตัวได้ในระยะกลาง

นโยบายที่สำคัญคือ การลงทุนสร้างระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคที่เข้มข้น รวมถึงการพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจหา antigen และantibody การพัฒนายาและวัคซีน ฯลฯ นโยบายดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสุกรไทยมีโอกาสกลับมาเริ่มต้นพัฒนาการเลี้ยงสุกรภายใต้ระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพสูงสุดที่จะทำให้อุตสาหกรรมสุกรกลับมาเติบโตจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายสำคัญได้ในระยะยาว ผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอหลักสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

ข้อเสนอที่ (1) รัฐบาลกับผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ASF และมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดการระบาดซ้ำในพื้นที่เดิม หรือการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ

1.1 การจัดทำแผนงานการกำจัดหรือการอยู่กับโรค ASF รวมทั้งการควบคุมและป้องกันการระบาด

1.2 การจัดข้อมูล องค์ความรู้ด้านความเสี่ยง และความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกต้องเหมาะสมกับห่วงโซ่อุปทานของสุกรในประเทศไทย รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างโปร่งใส

1.3 การขึ้นทะเบียนฟาร์ม/ ปรับปรุงทะเบียนฟาร์ม จำนวนสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้าย การฆ่า และการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องมากที่สุด

1.4 การสำรวจโรคและตรวจสอบโรคด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่แพงและรวดเร็ว

1.5 การชดเชยการทำลายสุกรแก่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างเป็นธรรม และพัฒนาระบบประกันสุขภาพสัตว์ที่มีอัตราการคุ้มครองที่เหมาะสมร่วมกับภาคเอกชน

1.6 รัฐสนับสนุนงบประมาณวิจัยด้านการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน

1.7 การกำหนดมาตรการแรงจูงใจเพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามแผนงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

1.8 การกำหนดมาตรการนำเข้าเนื้อสุกรเป็นการชั่วคราว โดยมีมาตรการป้องกัน (safeguard measures) ที่สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ GATT 1994 หรือมาตรการอื่นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เลี้ยงสุกรในระยะยาว รัฐบาลอาจกำหนดให้มีการนำภาษีนำเข้าบางส่วนมาใช้เป็นเงินชดเชยการทำลายสุกร

ข้อเสนอที่ (2) การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่จำเป็นต้องมีอย่างชัดเจน

2.1 โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ต้องมีห้องปฏิบัติการตรวจโรคที่รวดเร็ว และการลงทุนดังกล่าวควรได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากรัฐ

2.2 รัฐบาลต้องลงทุนในโรงกำจัดซากทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคเหมือนในต่างประเทศ

2.3 รัฐบาลต้องจัดตั้งกองทุนชดเชยการทำลายสุกร และระบบประกันภัยโรคสัตว์

โดยร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัย มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยผู้เลี้ยงสุกรโดยอาศัยเงินค่าธรรมเนียมจากผู้เลี้ยงสุกรในอัตราที่เหมาะสมตามขนาดของฟาร์ม นอกจากนั้น รัฐควรพิจารณาสนับสนุนและส่งเสริมให้มีระบบประกันภัยโรคสัตว์โดยภาคเอกชน ระบบประกันภัยที่จะรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ควรประกอบด้วยการประกันสองชั้น ชั้นแรกคือการประกันวินาศภัยโดยภาคเอกชนตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการกระจายความเสี่ยง และชั้นที่สองเป็นการประกันภัยโดยภาครัฐในกรณีที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงจนอาจทำให้ระบบประกันภัยเอกชนล้มละลาย

2.4 การจัดตั้งทีมงานเพื่อปฏิบัติงานที่เร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ 3 ด้าน ได้แก่

(1) การตั้งทีมงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เลี้ยงสุกรเพื่อจ่ายเงินเยียวยาและให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูหลังเกิดโรค
(2) จัดตั้งทีมงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่อาศัยนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ

(3) ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง) สมาคมประกันวินาศภัย และนักวิชาการเพื่อสร้างกรมธรรม์ประกันภัยโรคสุกร

2.5 การกำหนดนโยบายให้ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระทางวิชาการ (Academic Freedom) และต้องเปิดเผยผลการตรวจโรคต่อเจ้าของสัตว์และต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือความเห็นจากภาครัฐ แต่ต้องรายงานให้ทางหน่วยงานรัฐทราบในกรณีเป็นโรคระบาดในสัตว์

ข้อเสนอที่ (3) การกำหนดยุทธศาสตร์และเส้นทาง (road map) สู่การปลอดโรค

โดยการศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานของประเทศที่ประสบปัญหา ASF มาก่อน เช่น สเปน จีน เวียดนาม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในระยะแรกอาจมีเขตเลี้ยงสุกรที่ปลอดโรค (AFS Free Compartment) หรือฟาร์มปลอดโรค (ASF Free Farm) กับเขตที่ไม่ปลอดโรค แล้วค่อยขยายเขตปลอดโรคไปยังพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรค ASF จนปลอดโรคจริง ๆ เป็นต้น

ข้อเสนอที่ (4) รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการ
ในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งสามข้อข้างต้น 

โดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องมีอิสระในการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) ได้รับการสนับสนุนทั้งทรัพยากรและอำนาจตามกฎหมายจากรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้ควรประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เลี้ยงสุกร นักวิชาการด้านต่างๆ และสื่อมวลชน นอกจากนั้น คณะกรรมการควรมีอำนาจแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอในข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมที่ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่เป็นผู้บริหารสหกรณ์ นักวิชาการด้านสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้บริหารภาครัฐ และภาคเอกชน หวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกร และประชาชนผู้บริโภคเนื้อสุกรและนักการเมือง ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา จะช่วยกันผลักดันให้รัฐเร่งดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น