xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐานชัด! “กับดักสัตว์” ทำเสือโคร่งพิการ เหลือ 3 ขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนพบอุ้งตีนของสัตว์ป่า มีลักษณะคล้ายอุ้งตีนของเสือโคร่ง 1 อุ้งตีน


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจงคลิปจากกล้องดักถ่าย เสือโคร่งพิการ 3 ขาที่กำลังกินซากควายป่า ในผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ใกล้หมู่บ้านห้วยปิล็อก เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งกลายเป็นสัตว์ผู้ล่าผู้น่าสงสาร พร้อมตั้งข้อสังเกต เกิดขึ้นได้อย่างไร? ถูกใครกระทำ หรือว่าเป็นความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด

สะท้อนฝีมือกับความทรมานที่ถูกหยิบยื่นให้อย่างโหดร้าย! ทางเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำข้อมูลจากเพจ Thailand Tiger Project DNP ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ว่าเคยพบลูกเสือโคร่งที่พิการมาแต่กำเนิดหรือไม่ ทางเพจระบุว่า "การได้มีโอกาสพบเจอลูกเสือโคร่งในธรรมชาติไม่ได้เจอกันบ่อยๆ หรอก เพียงแต่ว่า ในสี่ ห้า หก เจ็ด ครั้งที่พบเจอ ไม่มีลูกตัวไหน แสดงความพิการเลย มีแต่แสดงความเกรี้ยวกราดน้อยๆ ตามประสาของมัน”
อ่านฉบับเต็มๆ ได้ที่ https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=254235253561056&id=100069237488596

แม้หลักฐานต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าถูกกับดักจนทำให้ขาขาด แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายร้ายที่มันหลบเลียแผลจนหายจากอาการบาดเจ็บมาได้ มาถึงตรงนี้แน่นอนว่าสัตว์หรือมนุษย์ทุกชีวิตดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่รอด

ด้านสัตวแพทย์ระบุว่า "ผลที่เกิดจากกับดัก อาจทำให้สัตว์ตายหรือไม่ก็ได้ เช่น บ่วงแร้ว ทำด้วยเชือกไนล่อน หรือลวดสลิง เมื่อติดกับดัก สัตว์จะดิ้นด้วยความตกใจ ยิ่งดิ้น หรือยิ่งขยับ บ่วงก็จะยิ่งรัดแน่นขึ้น บางตัวถูกรัดจนลึกถึงกระดูก ทรมานจนตายในที่สุด แต่กรณีนี้ไม่ตายแต่ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน"




ในระหว่างวันที่ 6 ก.พ. -7 ก.พ.2565 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนยังพบอุ้งตีนของสัตว์ป่ามีลักษณะคล้ายอุ้งตีนของเสือโคร่ง 1 อุ้งตีน ที่มีลักษณะโดนแร้วบ่วงสลิงรัดจนอุ้งตีนขาด อยู่ในสภาพเน่าเปื่อย วัดขนาดได้ความกว้าง 3.5.นิ้ว ความยาว 5.12 นิ้ว อยู่บริเวณในห้วยสะมะท้อ ห่างจากบริเวณที่ชาวบ้านถูกเสือโคร่งทำร้ายไปประมาณ 300 เมตร โดยทุกวันนี้ทางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้ร่วมกับชาวบ้านปิล็อกคี่ ลาดตระเวนในป่าและรอบๆ หมู่บ้านปิล็อกคี่ เพื่อช่วยระวังภัยเสือโคร่งและชาวบ้านด้วย

ด้าน นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ส่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จำนวน 18 นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า ได้ออกตรวจป่าร่วมด้วย 4 นาย รวม 22 นาย ลาดตระเวนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ บริเวณพื้นที่ป่าปิเต็ง ป่าห้วยปิล็อก ป่าสะมะท้อ และบริเวณป่าใกล้เคียง เพื่อระวังภัยให้กับเสือโคร่งพิการและสัตว์ป่าอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ จนถึงวันนี้

ผลจากการลาดตระเวนในป่าห้วยปิล็อก ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พบร่องรอยเท้าเสือโคร่ง ซึ่งเป็นรอยเก่าประมาณ 1 เดือน และพบการขุดหลุมวางแร้วบ่วงสลิงดักเสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ประมาณ 10 กว่าจุด และบริเวณใกล้เคียงหลุมแร้วบ่วงสลิงดักเสือโคร่งหรือสัตว์ป่าอื่นๆ

นอกจากนี้ยังตรวจพบต้นไม้มีรอยเล็บเสือเป็นรอยเก่าประมาณ 1 เดือนมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าบริเวณป่าพื้นที่ป่าห้วยปิล็อกแห่งนี้มีการลักลอบล่าสัตว์ป่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบขาของเสือโคร่งขาดติดบ่วงสลิงดักสัตว์ ทั้งนี้จะได้มีการลาดตระเวนป้องกันภัยคุกคามในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับการช่วยเหลือเสือโคร่งพิการ 3 ขา ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้มีการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งของกรมอุทยาน ฯ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเสือโคร่งตัวดังกล่าวต่อไป

ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ลาดตระเวน เชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามใน พื้นที่ และเพื่อให้ในพื้นที่ป่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับ สัตว์ป่า

จากการลาดตระเวนยังพบมีการใช้เครื่องมือดักสัตว์ ป่าประเภทบ่วงแร้วที่ทำด้วยเชือก และสลิง ปืนผูก และอุปกรณ์อื่น ๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้ เคียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บกู้ออกได้ก่อนเกิด เหตุ และลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

การใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นภัยคุกคามที่ร้าย แรงอย่างยิ่งต่อสถานภาพสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่าล้ม ตาย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างทุกข์ทรมาน นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือมีเบาะแสการกระทำที่ผิด กฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า แจ้งได้ที่สายด่วน 1362 ซึ่งหากเป็นการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ดักสัตว์ป่าใน พื้นที่อุทยานแห่งชาติจะมีความผิดตามพระราช บัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 19 (3) ฐานล่อ หรือนำสัตว์ป่าออกไป หรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ด้วยประการใดๆ มาตรา 19 (7) ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรือ จับสัตว์ หรืออาวุธใดๆเข้าไป ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 และมาตรา 45 จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้ง ปรับ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่าง เข้มงวดทุกราย


กำลังโหลดความคิดเห็น