การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจทุกระดับในหลายภาคส่วน วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศเชิงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านซัพพลายเชน การเข้าถึงเงินทุน และการจัดสรรทรัพยากร เมื่อธุรกิจต่างๆ เจริญก้าวหน้าเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของกลยุทธ์หลักและการดำเนินธุรกิจ
แต่สิ่งที่สำคัญคือธุรกิจจะต้องยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และการกำกับดูแลกิจการและความซื่อสัตย์ เป็นบททดสอบของภาคธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ภาคธุรกิจจะไม่สามารถเพิกเฉยต่อแรงกดดันต่างๆ นี้ได้อีกต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางธุรกิจ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ทางออกที่ยั่งยืน
จากความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสภาพแวดล้อมและสังคมที่เสื่อมโทรมลง ปัจจุบันประเด็น ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) กลับมาเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจในทางธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีที่องค์กรนำความเสี่ยงและเปิดรับโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับความสนใจมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ องค์กรต่างๆ จะถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อประเด็น ESG หลังจากการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ขณะเดียวกันก็เผชิญกับวิกฤตครั้งนี้จนสิ้นสุดลงและเข้าสู่กระบวนการฟื้นตัวของธุรกิจในลำดับถัดมา
สิ่งแวดล้อม
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมถึงวิธีที่บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะ การปล่อยมลพิษ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจ วิกฤตครั้งนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ภาคธุรกิจว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย ภาคธุรกิจจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงเหล่านี้และพิจารณาผลกระทบไม่เพียงแต่ในซัพพลายเชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำอีกด้วย จากผลการสำรวจของ Deloitte Global Resilience Report ปี 2564 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับ C-level จำนวน 2,260 คน รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐ จาก 21 ประเทศ พบว่ามากกว่า 60% ยึดมั่นในพันธสัญญาที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าธุรกิจของตนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเรียบร้อยแล้ว และ 28% อยู่ระหว่างการดำเนินการ หรือได้กำหนดกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้ซัพพลายเออร์ต่างๆ ต้องปฏิบัติตามแล้ว นอกจากนี้จากผลการสำรวจ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามได้พิจารณาให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นด้านความยั่งยืนอันดับต้นๆ ที่ภาคธุรกิจต้องจัดการในอีกสิบปีข้างหน้า
สังคม
ธุรกิจจะต้องบริหารจัดการผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ หรือความสัมพันธ์ทางธุรกิจ มุมมองด้านสังคมของความยั่งยืนเป็นแนวทางที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งมุ่งสนใจประเด็นต่างๆ เช่น ด้านสวัสดิการ สุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงาน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัย ความท้าทายทางสังคมต่างๆ ที่ธุรกิจกำลังเผชิญและมีส่วนร่วมในทุกวันนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญของบริบททางสังคม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจจะต้องพิจารณาผลกระทบทางสังคมจากมุมมองหลากหลาย เช่น ผู้ร่วมให้ข้อมูลโดยตรงที่มีการควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ หรือผลกระทบที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ซัพพลายเออร์หรือผู้ร่วมลงทุน วิกฤตการณ์ในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจสามารถตอบสนองต่อผลกระทบทางสังคมได้ดีขึ้นผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จากผลสำรวจ Deloitte Resilience Survey 2021 พบว่าสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าถูกจัดให้เป็นวาระการประชุมอันดับต้นๆ ผลการสำรวจพบว่ามากกว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าองค์กรของตนดูแลความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าได้เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตในปี 2563 นี้ไปได้
บรรษัทภิบาล
ด้านบรรษัทภิบาลมุ่งเน้นแนวปฏิบัติของบริษัทที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางธุรกิจและมาตรฐานทางจริยธรรม รวมถึงความเสี่ยงในการบริหารจัดการธุรกิจ ความโปร่งใส โครงสร้างองค์กร ความหลากหลายของคณะกรรมการบริหาร ช่องว่างระหว่างรายได้ การสนับสนุนทางการเมือง การปฏิบัติตามข้อกำหนด ความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว การระบุและผนวกรวมวัตถุประสงค์เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจจะแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางด้านผลการดำเนินงานทางการเงินและความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนเพิ่มความมั่นใจในการตอบสนอง ความรับผิดชอบและความไว้วางใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเพิ่มความสามารถในการปรับตัว ตอบสนองต่อการหยุดชะงักและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอย่างรวดเร็ว และการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นล้วนเป็นส่วนสำคัญของหลักธรรมาภิบาล ดีลอยท์พบว่าบริษัทที่มีความยืดหยุ่นมีลักษณะเด่น 5 ประการ ได้แก่ มีการเตรียมพร้อม ปรับตัวได้ ให้ความร่วมมือ เชื่อถือได้ และมีความรับผิดชอบ
ปัจจุบันยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเมื่อธุรกิจตัดสินใจลงทุนในโครงการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เช่น สิ่งนี้ส่งผลอะไรต่อธุรกิจ หากมองในด้านการเงินผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการริเริ่มโครงการด้าน ESG มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้แบบสำรวจล่าสุดของดีลอยท์เกี่ยวกับมุมมองของธุรกิจเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าการลงทุนในโครงการ ESG ทำให้ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น และ 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจได้ระบุว่าการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับคุณค่าด้าน ESG ช่วยเพิ่มความสามารถในการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้ร่วมงานกับองค์กรต่อไปได้
สำหรับองค์กรที่วางแผนจะวางรากฐานทางด้าน ESG ที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร สามารถเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่สามขั้นตอนหลัก ดังนี้
•ทำให้ ESG มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ – ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและแม่นยำเพื่อกำหนดว่า ESG มีความหมายต่อบริษัทอย่างไร นอกจากนี้องค์กรควรเชื่อมโยงประเด็นด้าน ESG ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อช่วยให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้อง
•เชื่อมโยง performance metric กับเป้าหมายด้าน ESG – สร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรด้วยการเชื่อมโยง performance metric กับผลกระทบของ ESG ความเชื่อมั่นจะถูกสร้างได้ด้วยเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เพื่อผลักดันให้โครงการเหล่านี้ให้มีความสำคัญต่อธุรกิจในระยะยาว
•การวัดผลและการชี้แจงกระทบ – พัฒนากรอบการทำงานเพื่อวัดผลโดยรวมของโครงการ ESG ประเมินผลกระทบอย่างสม่ำเสมอ และมุ่งเน้นการรายงานผลด้วยความโปร่งใส โดยประเด็นดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมโดยข้อบังคับการรายงาน ESG ทั่วประเทศ
แม้ว่าประเด็นทางด้าน ESG จะกลายเป็นส่วนสำคัญของประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร แต่ยังมีบริษัทจำนวนมากที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการทำงานด้าน ESG โดยปกติแล้ว บริษัทที่ยังเริ่มดำเนินการด้านนี้ไม่นาน มีทรัพยากรที่จำกัดในการบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG เช่น แนวทางในการบริหารจัดการเฉพาะด้าน ESG วิธีการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ รวมถึงการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเปิดเผยผลการดำเนินการด้าน ESG ที่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ด้านนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความคาดหวังในประเด็นด้าน ESG มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่าปัจจัยด้าน ESG ให้ข้อมูลเชิงลึกที่บอกเล่าถึงแนวคิดและวิธีการขับเคลื่อนที่องค์กรจะสร้างคุณค่าได้ อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และบริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถนำเสนอตัวชี้วัดและคุณค่าจากการดำเนินโครงการ ESG ในแนวทางที่นักลงทุนจะทำความเข้าใจได้ง่าย นี่คือเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาตัวชี้วัด ESG และเป็นเหตุผลหลักที่มาตรฐานการรายงานล่าสุดมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าการนำเสนอและตัวชี้วัดทั่วไป
แม้ว่ามาตรฐานการรายงาน ESG อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่การรายงานยังคงหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับหน่วยงานที่ให้การกำกับดูแลและหน่วยงานการจัดอันดับการดำเนินงานทางด้าน ESG รายงานผลการดำเนินงานของ ESG ภาคบังคับจะได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่องว่าเป็นข้อกำหนดที่จะต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ในหลายกรณีการรายงานด้าน ESG ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับรายงานทางการเงินประจำปี สำหรับประเทศไทยก็ได้ดำเนินการไปในทิศทางนี้เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ก.ล.ต. ได้นำกรอบของ '56-1 One Report' ฉบับใหม่มาใช้เป็นแบบฟอร์มการรายงานประจำปีภาคบังคับที่ครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ESG โดยจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป บริษัทต้องเปิดเผยห่วงโซ่คุณค่า การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการในด้าน ESG แบบฟอร์มนี้ยังกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลเฉพาะในแต่ละด้าน เช่น กระบวนการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภายนอก
ก้าวไปข้างหน้า
สถานการณ์การะแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันต้องยอมรับความยืดหยุ่นและความคล่องตัว เนื่องจากธุรกิจต่างๆ เป็นผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นผู้ควบคุมรูปแบบการผลิตที่สำคัญ เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันธุรกิจเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนประเด็น ESG มีหลายกรณีทางธุรกิจที่พิสูจน์ประโยชน์ของการรวม ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การประหยัดต้นทุน ไปจนถึงการหาตลาดใหม่และโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะเริ่มพัฒนา ESG ให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ กำหนดเป้าหมายและกระบวนการความยั่งยืนขององค์กรเพื่อนำ ESG ไปปฏิบัติ และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่จะกลายเป็นข้อบังคับ แม้ว่ากระบวนการเหล่านี้อาจดูยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจยังต้องฟื้นตัวจากวิกฤตสุขภาพระดับโลก แต่สิ่งนี้ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในการริเริ่มสิ่งใหม่เพื่อปรับกลยุทธ์หลักและการตัดสินใจทางธุรกิจให้สอดคล้องกับข้อบังคับทาง ESG ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจจะได้มีโอกาสตอบแทนสังคมผ่านแนวทางการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ความยั่งยืนจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ และสร้างความยืดหยุ่นที่ยั่งยืนกับ disruption ในอนาคต
บทความโดย กษิติ เกตุสุริยงค์
พาร์ทเนอร์ ที่ปรึกษาด้านการสอบบัญชี
ดีลอยท์ ประเทศไทย
อ้างอิงจาก
2021-Resilience-Report.pdf
(deloitte.com)
Climate
check: Business’ views on environmental sustainability | Deloitte Global
Thai
One Report (sec.or.th)