xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธรณีวิทยา จุฬาฯ วิเคราะห์ความเสี่ยงประเทศไทย!! “จากเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดกับการเกิดสึนามิ ที่ตองกา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล

Clip Cr.ABC News(Australia)
จากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเลบริเวณประเทศตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ส่งผลให้เกิดฝุ่นควัน เถ้าถ่าน และเกิดสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งหลายประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยด้านแผ่นดินไหว ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดกับการเกิดสึนามิ และโอกาสที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้
ทำความเข้าใจ "ภูเขาไฟใต้ทะเล"

"ภูเขาไฟ" เป็นกลไกการสร้างแมกมา (Magma) ที่อยูลึกลงไปภายใต้เปลือกโลก ภูเขาไฟสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลก ไม่ว่าจะบนพื้นดินหรือพื้นน้ำใต้ทะเล ภูเขาไฟระเบิดจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากแมกมามีแรงดันเพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณวงแหวนแห่งไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก และแหล่งกำเนิดภูเขาไฟส่วนใหญ่ของโลก เช่น กลางมหาสมุทรแอตแลนติก แนวร่องลึกร่องทรุดทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา และโดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิก

"ภูเขาไฟใต้ทะเล" ส่งผลให้เกิดสึนามิได้อย่างไร

คลื่นยักษ์สึนามิเกิดขึ้นจากแรงกระเพื่อมของน้ำทะเล สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการที่แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวหรือยกตัวในแนวดิ่ง การเกิดภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล หรือกรณีที่อุกาบาตตกกระทบกลางทะเล เกิดดินถล่มใต้น้ำ ซึ่งการเกิดสึนามิในครั้งนี้เกิดจากภูเขาไฟที่อยู่ใต้พื้นผิวทะเลปะทุขึ้น มีแรงสูบฉีดใต้น้ำพุ่งขึ้นมาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของน้ำจนเกิดเป็นสึนามิ

ภูเขาไฟบนเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย

ภูเขาไฟระเบิดบนหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์
ประเทศไทยกับผลกระทบจากการเกิดภูเขาไฟระเบิด

ศ.ดร.สันติ กล่าวว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีภูเขาไฟจำนวนมากคือประเทศอินโดนีเซีย บนเกาะสุมาตรา เกาะชวา ซึ่งมีภูเขาไฟปะทุเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ส่งผลต่อประเทศไทย เพราะในแง่ภูมิศาสตร์ สภาพหมู่เกาะจะปิดกั้นและป้องกันไม่ให้ภูเขาไฟที่ปะทุขึ้นเข้ามาในอ่าวไทยได้

ในขณะที่ภูเขาไฟที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นมีเพียงบริเวณนอกชายฝั่งอันดามันใกล้กับหมู่เกาะนิโคบาร์ เป็นภูเขาไฟที่มีพลังและมีโอกาสที่จะปะทุได้ แต่ในแง่ภัยพิบัติ ภูเขาไฟนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะเป็นภูเขาไฟลูกเล็ก ถ้ามีการระเบิดก็ไม่รุนแรง ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องผลกระทบแผ่นดินไหวและสึนามิจากการเกิดภูเขาไฟระเบิด

การรับมือภูเขาไฟระเบิด

"ภูเขาไฟระเบิดเป็นสิ่งที่เราป้องกันไม่ได้ แต่เราสามารถศึกษาการเกิดและเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับได้" นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ให้ความรู้ว่า โดยปกติก่อนภูเขาไฟจะปะทุขึ้นจะมีสัญญาณเกิดขึ้นก่อน เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ซึ่งในประเทศไทยไม่มีการเกิดภูเขาไฟระเบิด การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดจึงมีเพียงพอและเหมาะสมแล้วในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ทุ่นเตือนภัยสึนามิ และการซ้อมแผนฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ

การให้ความรู้ด้านภัยพิบัติแก่นิสิตและประชาชน

ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนิสิต เรื่องการประเมินภัยพิบัติแผ่นดินไหว ธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหว ระบบเตือนภัยและการรับมือแผ่นดินไหว พร้อมกับสอดแทรกความรู้ด้านภัยพิบัติอื่นๆ ให้แก่นิสิตด้วย

นอกจากนี้ทางจุฬาฯ เปิดสอนหลักสูตรสหสาขาวิชาเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ และมีคอร์สเรียนออนไลน์ Chula MOOC เรื่อง “แผ่นดินไหว ธรณีพิโรธที่น่ากลัว (Earthquake - A horror geohazard)” สอนโดย ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรธรณี และอดีตอาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนได้ที่ https://mooc.chula.ac.th/courses/159


กำลังโหลดความคิดเห็น